นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความขอบคุณคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวกรณีมีมติยกเลิกการใช้สารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต โดยมีนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย
คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ลงมติอย่างเปิดเผย โดยมีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากผู้เข้าร่วมประชุม 26 คน
“พาราควอต”
- มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้ 1 ธ.ค.2562 จำนวน 20 คน
- มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้ 1 ธ.ค.2564 จำนวน 1 คน
- และจำกัดการใช้ 5 คน
- “คลอร์ไพริฟอส” มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้จำนวน 22 คน และจำกัดการใช้ 4 คน
- “ไกลโฟเซต” มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิก 19 คน และจำกัดการใช้ 7 คน
- สารเคมี 3 ชนิดนี้มีอันตรายอย่างไร
- พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่ทำให้เกิดพิษรุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิต ซึ่งในทุกปีๆ มีผู้ป่วยจากการใช้ยาฆ่าหญ้า จำนวน 1,400 คน และเสียชีวิตมากกว่า 600 คนต่อปี
- ✅✅ พาราควอต (Paraquat) : รุนแรงที่สุดในทั้งหมด 3 สาร ผู้ที่ได้รับพิษมีอัตราเสียชีวิตถึง ร้อยละ 40 พาราควอตสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้โดยการกิน สัมผัส และหายใจ มีพิษเฉียบพลัน ผิวหนังเป็นแผลพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม ปอดเป็นอวัยวะหลักที่ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยถุงลมปอดจะถูกทำลาย
- ✅✅ คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) : ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างมาก สูญเสียความจำในการทำงาน ขาดสมาธิ คล้ายโรคสมาธิสั้น ออทิสติก สามารถตกค้างในร่างกายของแม่ และมีโอกาสกระจายตัวไปสู่ทารกในครรภ์ มีพิษต่อสมอง เด็กพัฒนาการช้า ความจำสั้น ควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองได้แย่ลง เด็กมีไอคิวต่ำ สมาธิสั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้และมะเร็งทวารหนัก
- ไกลโฟเซต (Glyphosate): ตกค้างในร่างกายและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อของทั้งแม่และทารก เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
หลังจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับ 3 สารเคมีเกษตรจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (แบน)มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ไปดำเนินการยกร่างประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลา ความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น