จากกรณี ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเหล้าภาคเหนือ เผยถึงกรณีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคัลง สั่งการมายังกรมสรรพสามิต ให้เร่งปราบปรามซุ้มยาดองเหล้า หลังพบว่าชาวบ้านใน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี เสียชีวิต 3 ราย เพราะซื้อยาดองเหล้าที่มีส่วนผสมของสมุนไพรรากสามสิบผสมคางคก โดยระบุว่ามาตรการของสรรพสามิตเป็นเพียงข้ออ้างในการเข้าไปทำลายวัฒนธรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพราะคำว่ายาดองเหล้า มีความหมายมากกว่าเหล้า ซึ่งกรมสรรพสามิตควรแยกแยะ ไม่ควรใช้มาตรการเหมารวม เพราะการทำยาดองเหล้าไม่ได้ใส่คางคกทุกสูตร การใช้เหตุนี้ กวาดล้างทั้งหมดถือว่า ไม่เหมาะสม เป็นการทำลายการแปรรูปข้าวในระดับพื้นบ้าน และกำลังทำให้นายทุนใหญ่ไร้คู่แข่ง
จากกรณีดังกล่าว กรมสรรพสามิต ได้ชี้แจงว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 อนุญาตให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุราชุมชน ซึ่งเป็นสุราพื้นบ้านสามารถที่จะดำเนินการผลิตได้ทั้งในรูปแบบของสุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ กระแช่ สาโท หรือสุรากลั่นชุมชน โดยสุราทั้งสองประเภทนี้ จะต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากกรมสรรพสามิตในฐานะที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ ดังกล่าว ก่อนจึงจะออกจำหน่ายได้ เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคมีความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ต้องการนำสุราแช่พื้นบ้าน หรือสุรากลั่นชุมชนดังกล่าว ที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจากกรมสรรพสามิตเรียบร้อยแล้ว ไปใช้เพื่อการผลิตเป็นยาแผนโบราณ โดยผสมสมุนไพรหรือวัตถุดิบพื้นบ้านตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อทำให้มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตามตำรับยาแผนโบราณ ก็สามารถดำเนินการได้โดยขอขึ้นทะเบียนเป็นตำรับยาสมุนไพรแผนโบราณกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐทั้งกรมสรรพสามิต และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่อย่างใดแต่จำเป็นต้องมีการออกกฎระเบียบ เพื่อใช้กำกับการจำหน่ายสุราที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ ไม่ขัดต่อหลักสุขอนามัยที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ที่ใช้บริโภคดื่มกิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มหรืออาหารต่างๆ ก็ต้องได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐเช่นเดียวกัน