Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

430 views

ข่าวปลอม อย่าแชร์ นำใบกระท่อมมาทอดกรอบ กินแล้วช่วยให้คลายเส้น และตื่นตัว


ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนำใบกระท่อมมาทอดกรอบ กินแล้วช่วยให้คลายเส้น และตื่นตัว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลวิธีการทำใบกระท่อมชุบแป้งแล้วทอดให้กรอบเพื่อรับประทาน ซึ่งระบุว่า หลังกินจะช่วยให้คลายเส้น และตื่นตัวนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การบริโภคใบกระท่อมที่ผ่านมามีหลายรูปแบบ เช่น บดเป็นผง ละลายน้ำดื่ม หรือเคี้ยวใบสด โดยเคี้ยวเหลือแต่กากแล้วคายออก หรือเอาใบมาย่างให้เกรียมและตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพริกรับประทานเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทน ตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย การใช้ใบกระท่อมควรรูดเอาก้านใบออก เนื่องจากก้านใบและใบกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ สามารถตกตะกอนติดค้างในลำไส้เกิดพังผืดหุ้มรอบกากกระท่อม

สำหรับในกรณีการบริโภคใบกระท่อมโดยนำมาชุบแป้งทอดกรอบ เป็นวิธีแบบใหม่ ซึ่งเมนูดังกล่าวเป็นเมนูที่ควรระมัดระวังในการบริโภค เนื่องจากการรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดการตกค้างของใบกระท่อมในลำไส้ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น มึนงง คลื่นไส้อาเจียน หรือทำให้ติดได้ ดังนั้น ไม่แนะนำให้นำใบกระท่อมมาบริโภคโดยประดิษฐ์เป็นเมนูใหม่ ๆ เพื่อสันทนาการ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการผิดปกติจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ควรหยุดใช้และรีบพบแพทย์ทันที

โดยสรรพคุณทางยา ใบกระท่อม มีรสขมเฝื่อนเมา ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท ในสูตรยาของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ จะนำพืชใบกระท่อมมาใช้เป็นยารักษาแก้ท้องร่วง เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ตลอดจนใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้ และบ่อยครั้งมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่น โดยเฉพาะในประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007

ที่มา : AntiFakeNewsCenter


แทก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส