279 views

สตช.แจง ไม่มีนโยบายตั้งจุดตรวจ เพื่อนำเงินส่ง บช.น. หากพบ จนท.ตร.ทำผิดจะดำเนินคดีทั้งอาญาและวินัยโดยเด็ดขาด


จากกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เผยถึงการตั้งด่านตรวจของกองบัญชาการตำรวจนครบาลโดยมีการนำเงินที่ได้จากค่าปรับส่ง บช.น. เดือนละกว่า 324 ล้านบาท นั้น

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขี้แจงว่า ประเด็นที่พาดพิงดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด การตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯของ บช.น. เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้โดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่กระทำความผิดที่อาจถึงแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมถึงความผิดตามกฎหมายจราจร อีกทั้งป้องกันและคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากล

บช.น. ได้มอบหมายให้ผู้บังคับการตำรวจนครบาลในพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีผู้บังคับการตำรวจจราจร ลงไปควบคุมกำชับดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามจุดตรวจจุดสกัดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้

อีกทั้ง บช.น.ยังได้มีวิทยุด่วนที่สุด ที่ควบคุมการปฏิบัติในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดให้ไปตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะการขออนุญาตต้องมีผู้บังคับบัญชาระดับสารวัตรขึ้นไปเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติและมอบหมายรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่รับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม และงานจราจร ลงไปตรวจสอบ ดูแลการปฏิบัติโดยใกล้ชิด หากตรวจพบจะถือเป็นความบกพร่องของ ผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจ และผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ขึ้นไป 2 ลำดับชั้น โดยยึดระเบียบปฏิบัติและกฎหมาย ดังนี้

  1. กรณีการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดตั้งเฉพาะ จุดตรวจ และจุดสกัด โดยจะไม่มีการจัดตั้ง ด่านตรวจ ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากครม.หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงหรือ กอ.รมอ. ตามที่มีข่าวพาดพิงแต่อย่างใด โดย จุดตรวจ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับการนครบาลที่รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้นและต้องมีข้าราชการตำรวจระดับสารวัตร ขึ้นไปประจำอยู่จุดตรวจเพื่อควบคุมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด
  2. ในส่วนการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจ
    มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย เฉพาะที่ให้อำนาจไว้ เช่น เจ้าพนักงานจราจร หรือ พนักงานสอบสวน ประกอบกับในการเปรียบเทียบปรับ บางฐานความผิดต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย รวมทั้ง ต้องทำเป็นสำนวนรายคดีเปรียบเทียบ ส่งพนักงานอัยการเพื่อให้คดีระงับ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีเงินค่าปรับตามพ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ได้รับในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องนำส่งกรุงเทพฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจราจรตามที่กฎหมายกำหนด ( ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒2522 มาตรา 140,145,146) ส่วนการจ่ายเงินค่าปรับที่เกี่ยวข้อง เงินสินบนและเงินรางวัล เป็นไปตามระเบียบ ตร. ไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 38 เงินสินบนและเงินรางวัล
  3. กรณีตรวจพบผู้กระทำความผิดอาญาในข้อหา เมาแล้วขับ หรือ ตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะ(ฉี่ม่วง) หรือตรวจพบยาเสพติด หรือตรวจพบฐานครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าโดยผิดกฎหมายนั้น กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับในความผิดฐานดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพบการกระทำความผิดจะต้องดำเนินการจับกุมตัวผู้กระทำความผิด และส่งยังพนักงานอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ทุกกรณี
  4. กรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกรับเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จำนวน 27,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดเฉพาะตัว ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำจุดตรวจของ สน.ห้วยขวาง จำนวน 6 นาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เมื่อผู้บังคับบัญชาตรวจพบได้ดำเนินการโดยเด็ดขาดกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกรณีความรับผิดทางอาญา และกรณีความรับผิดทางวินัย

ทั้งนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่า ไม่เคยมีนโนบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเรียกรับผลประโยชน์ในทางมิชอบ หรือในทางทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามที่เป็นกระแสข่าวแต่อย่างใด โดยได้กำชับให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บังคับการ และผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจทุกนาย ควบคุม กำกับ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ห้ามมิให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ในทุกกรณี หากตรวจพบจะดำเนินคดีอาญา และดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้เกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส