ศอ.บต. ชี้แจงกรณีสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี ได้มีการรวมกลุ่มยื่นหนังสือเรียกร้องเงินค่าชดเชยในส่วนของการนำเรือประมงออกนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยัน!!! ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ตามที่สมาคมประมงจังหวัดปัตตานี ได้มีการรวมกลุ่มยื่นหนังสือ เพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยในส่วนของการนำเรือประมงออกนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น
ศอ.บต. ขอชี้แจงว่า ศอ.บต. ได้รับทราบปัญหา และ หาแนวทางในการช่วยเหลือชาวประมงมาอย่างต่อเนื่องโดยได้นำเรียนปัญหาดังกล่าวไปยังรัฐบาลเพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดีที่สุด ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติ เห็นชอบดังนี้
- เห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ 1) ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เห็นชอบผลการตรวจสอบประวัติ ความถูกต้อง และคุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือพื้นที่จังหวัดปัตตานี และผลการประเมินราคาค่าชดเชยเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ 1) ของกลุ่มเรือประมงที่รับการประเมินสภาพเรือ จำนวน 97 ลำ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 166,723,800 บาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำเกณฑ์และคุณสมบัติของเรือประมงและเจ้าของเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) เพื่อให้เป็นเกณฑ์และคุณสมบัติเดียวกัน (โดยให้ปรับเกณฑ์และคุณสมบัติเพียงเกณฑ์สีขาว และดำ เท่านั้น จากเดิมที่มี ขาว เทา และดำ) และส่งผลการจัดกลุ่มเรือเสนอให้กรมประมง เพื่อกรมประมงในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เสนอให้ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อพิจารณานำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติพร้อมกับเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) ที่กรมประมงดำเนินการ
- มอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยาซื้อเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และเป็นหน่วยดำเนินการจ่ายเงินชดเชยการลำลายเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะกำหนดไว้ต่อไป
- จังหวัดปัตตานีในฐานะประธานคณะทำงานด้านการตรวจสอบประวัติ ความถูกต้อง และคุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือพื้นที่จังหวัดปัตตานี (คทน.ตรป.) กำหนดจัดประชุมเพื่อพิจารณาจัดกลุ่มเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ ๑) โดยนำเกณฑ์และคุณสมบัติของเรือประมงและเจ้าของเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) เพื่อนำผลเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเยียวยาตามมาตราการลดจำนวนเรือประมงเพื่อจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะกำหนดประชุมในวันที่ 20 มกราคม 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอให้กรมประมงในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติต่อไป
อย่างไรก็ตามในการเสนอของศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีเรือสีเทาอีก 4 ลำที่จำเป็นจะต้องปรับให้เป็นขาวหรือดำเท่านั้นโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบเป็นหลักการตามที่สำนักงบประมาณเสนอไว้แล้วนั้นก็ได้เร่งรัดพิจารณาจากประชุมเป็นการเร่งด่วนเนื่องจากเรือตามโครงการของ ศอ.บต. มีเรือสีเทา 4 ลำ ที่จำเป็นจะต้องปรับสีตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดเพื่อที่จะนำผลสรุปที่ประชุมเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไป ตามขั้นตอนที่ส่วนราชการได้กำหนดร่วมกันซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนราชการหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติที่ส่วนราชการกำหนดนั่นคือ การเสนอเรื่องไปยังอนุกรรมการกลั่นกรอง 1 และคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติตามที่มีหลักการเพื่อให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติเช่นเดียวกันทั้งประเทศ
ศอ.บต และ รัฐบาลขอเรียนว่าทุกส่วนราชการได้เร่งรัดการดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเต็มที่แต่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารบางขั้นตอนการดำเนินการจากผู้บริหารที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่ความเข้าใจว่าจะสามารถเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติอีก เนื่องจากไม่มีหนังสือสั่งการที่เป็นลายลักษณ์อักษรใดๆในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวนอกจากหนังสือที่สำนักงบประมาณ เสนอกราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบที่ให้การปฏิบัติเรื่องการนำเรือออกนอกระบบนอกจากจะต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีในทุกโครงการเท่านั้น
ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า ศอ.บต และ รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการทุกอย่างให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะการประชุมในวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติก็จะเห็นภาพรวมของการเสนอโครงการนำเรือออกนอกระบบทั้งประเทศก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับขั้นตอนต่อไป