เชื่อว่าอาหารทอดเป็นเมนูโปรดของหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็น ไก่ทอด หมูทอด ลูกชิ้นทอด ทอดมัน กล้วยทอด และปาท่องโก๋ แต่รู้หรือไม่ว่าอาหารที่ผ่านการทอดจากน้ำมันใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ส่งผลรุนแรงต่อร่างกายจากสารอันตรายที่เกิดขึ้น น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ จะมีลักษณะเหนียวข้น สีดำ มีกลิ่นเหม็นหืน มีฟอง และเกิดควันมากขณะทอด เกิดจากการทอดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อน้ำมันถูกทอดซ้ำมาก ๆ ที่ความร้อนสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมัน ซึ่งการเสื่อมคุณภาพของน้ำมันทอดอาหารทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ (Polar compounds) หรือสารโพลาร์ และสารประกอบโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAHs) ซึ่งในการทอดอาหารซ้ำแต่ละครั้ง สารโพลาร์จะมีประมาณร้อยละ 25 หากมีการใช้น้ำมันนี้ทอดซ้ำอีกครั้งต่อไปสารโพลาร์ก็จะยิ่งมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เกินกว่าร้อยละ 25 หมายความว่าน้ำมันจะยิ่งเสื่อมสภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้น้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร หรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนัก
อันตราย..จากน้ำมันทอดซ้ำ
- สารโพลาร์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง
- ผู้ประกอบอาหารทอดที่สูดดมไอระเหยของน้ำมันทอดอาหารเป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด
ข้อแนะนำในการใช้น้ำมันทอดอาหาร
- หลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันที่ผ่านการใช้แล้ว ซึ่งมักนำมาบรรจุถุงพลาสติกวางจำหน่าย
- เลือกซื้อน้ำมันที่มีภาชนะบรรจุที่มีฉลากชัดเจน และมีเลขสารบบอาหาร ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ผงสีดำ หรือตะกอนขุ่นขาว รวมทั้งภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพปิดผนึก ไม่มีรอยฉีกขาด
- ไม่ใช้น้ำมันที่มีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวข้น สีดำ มีฟองมาก เป็นควันง่าย และมีกลิ่นเหม็นไหม้
- ควรซับน้ำบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของน้ำมัน ควรทอด
อาหารครั้งละไม่มากเกินไป และหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนสูงในการทอด - ควรเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารบ่อยขึ้น หากทอดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีส่วนผสมของเกลือหรือเครื่องปรุงรสผสมอยู่ น้ำมันที่ทอดไม่ควรใช้ทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง
- หมั่นกรองอาหารทิ้งระหว่างและหลังการทอดอาหาร
- การใช้น้ำมันเก่าซ้ำแล้วซ้ำอีก และเติมน้ำมันใหม่ผสมลงไป เป็นการเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันทำให้เกิดสารโพลาร์สูงขึ้น เป็นอันตราย
ที่มา : FDA Thai