ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เอ็นร้อยหวายไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกปลูกฝังบอกเล่าต่อกันมา แต่ที่น่าสนใจคือ ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไม่เคยมีความพยายามที่จะนำประวัติศาสตร์ตรงนี้มาศึกษาอย่างรอบด้านและเป็นวิชาการ
ศูนย์พหุวัฒนธรรมฯ จึงนำประเด็นข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวายมาศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อนำประวัติศาสตร์ที่ซ้อนเร้น เอามาเปิดเผยสามารถพูดถกเถียงกันได้อย่างสมเหตุสมผลผ่านกรอบวิชาการ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่นำเอาประเด็นเอ็นร้อยหวายมาศึกษาตามหลักวิชาการ โดยเชิญนักวิชาการมุสลิมมาให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และได้ข้อยุติว่าไม่มีหลักฐานยืนยัน ว่า เรื่องเอ็นร้อยหวาย เป็นข้อเท็จจริง ผลการศึกษา ไม่มีหลักฐานปรากฏว่ามีวิธีการขนย้ายเชลยศึก โดยการเจาะเอ็นร้อยหวายปรากฏขึ้นในหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์เชิงเอกสาร และภาพวาด และการกวาดต้อนเชลยในสมัยนั้น นำคนจากแหล่งอื่นมาเพิ่มประชากรให้รัตนโกสินทร์ ที่เพิ่งถูกสถาปนา หลังจากการล้มสลายของอาณาจักรอยุธยา ดังนั้นแล้ว การกวาดต้อนคนมาจึงไม่มีเจตจำนงค์ที่จะทำให้คนเหล่านั้นพิการ ในทางตรงข้ามต้องอาศัยความเข้มแข็ง แข็งแรงของร่างกายเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง ซึ่งกิจกรรมแบบนี้ก็มีทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่ากวาดต้อน มณีปุระ อาระกา หรือของไทย นำเอาผู้คนจากล้านช้าง เขมรมาเป็นกำลัง นอจากนี้สภาพสังคมในยุคนั้นก็เป็นพหุวัฒนธรรม เฉพาะมุสลิมเองก็มีหลายกลุ่ม ไม่ได้มีเฉพาะจากปัตตานี มีทั้งมุสลิมจาม มุสลิมจากอยุธยา
โดยข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปาตานี นั้น ได้มีการจัดพิมพ์ไว้ อย่างเป็นระบบ มีการอ้างอิงชัดเจน และไม่ได้มีเพียงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ด้านกระดูกและเส้นเอ็น คือ นพ. จีรันตร์ อภินันทร์ ได้เขียนบทความเรื่อง “กายวิภาคของเอ็นร้อยหวาย” โดยกล่าวถึงการเจาะเอ็นร้อยหวายว่า เป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ทำให้เกิดภาวะพิกลพิการ และอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อ ถ้าในสมัยนั้นมีการกวาดต้อน อย่างไม่ถูกสุขลักษณะ การติดเชื้อก็อาจเกิดขึ้น ผลจากการเจาะเอ็นร้อยหวาย อาจทำไห้เกิดภาวะพิกลพิการ จึงไม่สมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง
ส่วนการนำวาทกรรม เอ็นร้อยหวาย รวมไปถึงวาทกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตที่เกี่ยวกับความขัดแย้งสยาม-มลายู ไปใช้สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างการนำมาเป็นส่วนหนึ่งในเกมส์ไพ่ การ์ดเกมส์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในณะนี้นั้น ศ.ดร.สุเนตร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำประวัติศาสตร์บาดแผล ไปอธิบายประวัติศาสตร์ในอดีต เป็นเรื่องราวที่สร้างความรู้สึกในเชิงลบ สร้างความรู้สึกต่อต้านเป็นปรปักษ์ ความทรงจำที่เจ็บปวดรวดร้าว เช่น การเสียงกรุงศรีอยุธยา การรบต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่สร้างความทรงจำที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดในยุคสมัย และสามารถนำมาผลิตซ้ำ ขึ้นอยู่กับเจตนา เช่นกรณี เอ็นร้อยหวาย ถึงแม้ว่าไม่ได้มีการพิสูจน์ แต่มันบ่มความรู้สึกให้เกิดความเชื่อ ความเข้าใจในทำนองนั้น และสร้างกระแสต่อต้านรัฐจากฝ่ายตรงข้ามได้ บางครั้งประวัติศาสตร์บาดแผลขึ้นกับว่าเป็นใครที่พูดถึง บางครั้งรัฐอยากให้ปิดบัง เพราะอาจเกิดความรู้สึกต่อต้าน แต่กับฝ่ายตรงข้าม ก็อยากเอามาปลุกกระแส ผลิตซ้ำ ดังนั้น ภาครัฐเองก็ควรกล้าที่จะนำประวัติศาสตร์บาดแผลมาพูดถึง ไม่จำเป็นต้องปิดบัง และศึกษาทำความเข้าใจอย่างมีหลักวิชา ให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน แก่ประชาชน ให้นำเอาความรู้เป็นตัวนำ อย่าเอาความเชื่อเป็นอารมณ์ พร้อมที่จะนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ในวงกว้าง
ช้อมูล เพจ สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์