นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบแนวโน้มพบมะเร็งโคนลิ้น หรือมะเร็งคอหอยหลังช่องปากมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 800 ราย มาจากพฤติกรรมความเสี่ยง ได้แก่ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบ และการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนหลายคนและการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคนี้ โดยผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงสามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นกันหากมีพฤติกรรมดังกล่าว
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า หากผู้ป่วยพบว่า มีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร มีเลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยน หรือมีก้อนที่คอ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะตรวจร่างกายส่องกล้องทาง หู คอ จมูก เพื่อตรวจในลำคอ หากจำเป็นแพทย์จะสั่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กเพิ่มเติม การรักษาอาจสามารถหายได้หากรีบเข้ารับการรักษาในระยะเริ่มต้น ด้วยการให้รังสีรักษาและการผ่าตัด แต่หากอยู่ในระยะลุกลามจำเป็นต้องประเมินเป็นรายกรณี สำหรับการป้องกันทำได้โดยการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุราและมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย