จากกรณีนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษาระบุถึง กรณีกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แยกวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเพื่อสร้างความรักชาติ เป็นการบังคับเพื่อให้เด็กรักชาติ ซึ่งผิดหลักการทางการศึกษา เหตุใด ศธ.ปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์วิชาเดียว ไม่ปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ระบุว่า วิชาประวัติศาสตร์รวมอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาอยู่แล้ว นักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาต้องเรียนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแยกออกมา เพื่อเพิ่มภาระทั้งครูและนักเรียน ปัญหาสำคัญของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์คือขาดหลักสูตรสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ขาดตำราที่ทันสมัยและถูกต้อง รวมไปถึงขาดฐานข้อมูลกลางให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ถูกต้อง
จากกรณีดังกล่าว นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ชี้แจงว่าการแยกรายวิชาดังกล่าว เป็นไปตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นชาติ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและของโลก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน” และ พิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพฐ. ได้เห็นชอบการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ โดยในร่างประกาศ ศธ. ฉบับดังกล่าว กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิต ต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต) โดยการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน คือ จะมีการแยกรายการประเมินผลการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ โดยในแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.3) จะมีการแสดงผลการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์แยกออกมา จากเดิมที่รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รวมถึงการบรรจุครูใหม่จะต้องมีครูเอกประวัติศาสตร์ด้วย
สำหรับการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชา จะไม่สร้างความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน หรือเพิ่มภาระงานให้แก่ครูหรือนักเรียน เพราะการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การสู้รบของประเทศไทยในอดีต แต่สามารถเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือแม้แต่ประวัติศาสตร์โลก ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำเหมือนที่ผ่านมาอาจไม่ใช่คำตอบของการทำให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเท่าที่ควร ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมุ่งเน้นให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเรียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่มากขึ้น ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา ไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ แต่เป็นการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น โดยไม่ได้เพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ โดยเด็กจะเรียนเท่าเดิม แต่เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อเชื่อมอดีตสู่อนาคตในมิติเศรษฐกิจสังคมและหน้าที่พลเมือง พร้อมกันนั้นต้องเน้นย้ำการอบรมและพัฒนาครูเกี่ยวกับการสอนประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง การใช้สื่อดิจิทัลและวิธีการเรียนรู้สมัยใหม่และมีการติดตาม ให้คำปรึกษา และประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง