กรมสุขภาพจิต ประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ได้แก่ ระยะฉุกเฉิน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งระดมบุคลากรด้านสุขภาพจิตเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา วานนี้แล้ว
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ดังนี้
1.ระยะฉุกเฉิน (72 ชั่วโมงแรก) ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT เข้าประเมินประชาชน คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความสูญเสียโดยตรง
2.ระยะสั้น (2 สัปดาห์แรก) ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจยังได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นบางประการ เช่น เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ ไม่สามารถปรับตัวได้ ประชาชนอาจมีความวิตกกังวลในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน
กรมสุขภาพจิตโดยทีม MCATT และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จะให้การบำบัดรักษาในรายที่จำเป็น เริ่มทำกิจกรรมต่างๆ กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เกิดพลังใจทางบวก เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจ พร้อมที่จะกลับไปชีวิตตามปกติหลังจากนี้ และติดตามผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
3. ระยะกลาง (6 เดือน) กลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตอยู่จะทำการติดตามต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อติดตามปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดตามมาในภายหลังได้ เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD เป็นต้น
4.ระยะยาว กรมสุขภาพจิตจะยังคงติดตามเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสีย ที่อาจยังต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด
- หากประชาชนพบความผิดปกติด้านจิตใจของตนเองหรือคนใกล้ชิด ประชาชนในพื้นที่สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
- ติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี 24 ชม.