นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ว่า “ร่าง พ.ร.ฎ.เพิ่มเงินให้ผู้รับบำนาญ – ขยายเพดานวงเงินบำเหน็จ
- บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 10,000 ให้ได้รับ 10,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท
- บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 20,000 ให้ได้รับ 20,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท
- บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 30,000 ให้ได้รับ 30,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท
- บำนาญรายเดือน ที่ไม่ถึง 40,000 ให้ได้รับ 40,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท
- บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 50,000 ให้ได้รับ 50,000 และบวกเพิ่ม 5,000 บาท
- บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 60,000 ให้ได้รับ 60,000 และบวกเพิ่ม 5,000 บาท
- บำนาญรายเดือน ที่ไม่ถึง 70,000 ให้ได้รับ 70,000 และบวกเพิ่ม 5,000 บาท
กรมบัญชีกลาง แจ้งว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ข้างต้น ไม่เป็นความจริง ‼
พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 ปรับเพิ่มเงินให้กับผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญรวมกันทุกประเภทและรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) แล้ว
หากได้รับต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ปรับเป็นให้ได้รับเดือนละ 10,000 บาท สำหรับผู้รับบำนาญที่ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท และยังไม่เคยได้รับ ช.ค.บ. มาก่อน จะยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้ผู้รับบำนาญไปแสดงตนเพื่อยืนยันว่าไม่ได้กลับเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในสังกัดราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อยื่นคำขอเบิกเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญก่อน เพื่อให้ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญแจ้งกรมบัญชีกลางให้โอนเงิน ช.ค.บ. ดังกล่าว ผู้รับบำนาญจึงจะได้รับเบี้ยหวัดบำนาญและ ช.ค.บ. รวมกันเป็นเดือนละ 10,000 บาท
กรมบัญชีกลาง ขอย้ำว่ากฎหมายดังกล่าวมีเพียงประเด็นปรับเพิ่มเงิน ช.ค.บ. เท่านั้น ขอให้อย่าหลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อกันทางสื่อออนไลน์ และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญของตนเอง หรือสอบถามได้ที่ Call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 กด 2 ในวันและเวลาราชการ