นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้มีการทิ้งขยะประเภทหน้ากากอนามัยในหลายครัวเรือน ทำให้บางวันมีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มกว่า 1 พันกิโลกรัม
เดิมกรุงเทพมหานครจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จัดเก็บขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
แต่เนื่องจากปริมาณขยะติดเชื้อจากบ้านเรือนประชาชนเพิ่มขึ้น
✅✅ กรุงเทพมหานครได้ขยายแนวทางการจัดเก็บเพิ่มเติม โดยจัดวางถังขยะสีแดงสำหรับรองรับหน้ากากอนามัย อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่
- สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง
- โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง
- ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
- ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) โดยมีการติดป้ายสัญลักษณ์ และป้ายข้อความ “สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยเท่านั้น”
✅✅ รวมถึงมีการกำกับดูแล เพื่อป้องกันการทิ้งขยะประเภทอื่นปะปน และป้องกันการรื้อค้นนำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้มีการนำถังขยะสีแดงติดตั้งไปกับรถขยะ เพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ในการแยกประเภทขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไป
- ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันคัดแยกขยะติดเชื้อและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะทั่วไป โดยทิ้งใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” เพื่อแยกทิ้งให้รถเก็บขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะในจุดที่กรุงเทพมหานครกำหนดข้างต้น
✅✅ กรุงเทพมหานครจะนำขยะติดเชื้อไปกำจัดด้วยวิธีการเผาที่เตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่งมีระบบบำบัดมลพิษ และมีการดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม