การยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมการระบาดของโควิด ที่จะมีผลตั้งแต่ 30 ก.ย. และตามด้วยการยุบศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีผล 1 ต.ค.นี้ เพราะครบกำหนดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ใช้มาเป็นครั้งที่19 ในวันที่ 30 ก.ย. และก่อนหน้านี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติปรับให้โควิดจาก “โรคติดต่ออันตราย” เป็นเพียง “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้เช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลง สอดคล้องกับในไทยที่สถานการณ์คลี่คลายต่อเนื่อง
ระยะนี้มีผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในแต่ละวันลดลงเหลือระดับหลักร้อย ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 10 กว่าคน ถึงต่ำ 10 คนต่อวัน ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนกิจการได้เป็นปกติมานานระยะหนึ่งแล้ว จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนตามแผนงาน ขั้นตอน ที่วางเอาไว้อย่างเป็นระบบมาก่อนหน้านี้
การมาถึงจุดที่สามารถยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบศบค. และใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาเฝ้าระวังแทนได้ ไทยเราใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน กับอีก 7 วัน ห้วงเวลาดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นมากมาย ดังนั้นมาย้อนเหตุการณ์เหล่านี้อีกสักครั้ง เพื่อเป็นบทเรียนนำไปใช้ในยุคที่โควิดถูกปรับมาเป็นเพียงโรคที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป
เหตุการณ์สำคัญฝ่าวิกฤตโควิดสำเร็จ
13 ม.ค. 2563 พบผู้ป่วยติดเชื้อในไทยรายแรก ที่เดินทางกลับจากจีน ซึ่งเป็นการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดนอกแผ่นดินจีนรายแรก ทำให้ไทยถูกจับตาจากทั่วโลกว่าจะเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ต่อจากจีน
31 ม.ค.2563 พบผู้ป่วยชาวไทยรายแรก มีอาชีพขับแท็กซี่ มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้โดยสารชาวต่างประเทศ จากนั้นการระบาดขยายออกไปอย่างช้าๆ
กลางเดือน มี.ค.2563 พบการกระจายเชื้อเป็นกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ จากสนามมวยและสถานบันเทิงในเขตกรุงเทพฯ จากนั้นมีการระบาดเร็วขึ้น
24 มี.ค. 2563 ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมตั้ง ศบค.เป็นศูนย์ปฏิบัติงานแบบบูรณาการ มีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ขณะนั้นโควิดกลายพันธุ์มาเป็นเดลต้า แพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ศบค.ได้ปรับกลยุทธ์รับมือตามสถานการณ์ เน้นมาตรการภาพรวม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มาตรการระดับบุคคล “เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย” กักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศในQuarantine ที่ภาครัฐและเอกชนจัดเตรียมไว้ ทำให้ควบคุมการแพร่เชื้อจากต่างประเทศ และควบคุมการระบาดในประเทศระลอกแรกได้ในเวลาเพียง 70 วัน จากนั้นการระบาดช้าลง มีผู้ติดเชื้อรายวันไม่ถึง 10 คน หลายต่อวันไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเลย ทำให้ช่วงนั้นชาวไทยดำเนินชีวิตได้เกือบปกติ ในขณะที่หลายประเทศกำลังพบปัญหาการระบาดที่หนักขึ้น
ปลาย ธ.ค.2563 – มี.ค.2564 เป็นการระบาดระลอก2 พบคลัสเตอร์ใหม่ใน จ.สมุทรสาคร ที่มาจากแรงงานต่างด้าว ทาง ศบค.ได้เพิ่มมาตรการ Bubble & Seal เจอที่ไหน กักโรคที่นั่น เช่น พื้นที่โรงงาน พื้นที่ก่อสร้าง เพื่อจำกัดการระบาดในคลัสเตอร์ไม่ให้แพร่เชื้อไปภายนอก รวมทั้งกระจายอำนาจให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดพิจารณามาตรการเพิ่มเติมในพื้นที่ของตนเอง ตรวจหาเชื้อเชิงรุก และการสอบสวนโรค ตั้งโรงพยาบาลสนามให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว ทำให้ควบคุมการระบาดได้ในเวลาประมาณ 80 วัน
เม.ย.- มิ.ย.2564 เป็นการระบาดระลอก3 มีการจัดแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามระดับอาการ 3 กลุ่ม คือ สีเขียว เหลือง แดง จัดแบ่งสีจังหวัดตามระดับความรุนแรงการแพร่ระบาด จัดตั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศเพิ่มเติม จนสามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ทั้งหมด พร้อมเดินหน้าตรวจหาผู้ติดเชื้อเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา รวมทั้งมีการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง และชาวต่างชาติในไทย
ก.ค.- ธ.ค.2564 ระลอก4 ช่วงที่สายพันธุ์โอมิครอน เป็นสายพันธุ์หลักเริ่มระบาดในไทย แพร่เชื้อได้เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย จึงเน้นให้ยังสวมหน้ากากอนามัยและงดร่วมกิจกรรมในสถานที่เสี่ยง พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนได้ทุกเข็ม ส่วนผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยถึงไม่มีอาการให้รักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ในชุมชน หรือ Community Isolation ให้เอกชนตั้ง Company Isolation เพื่อเพิ่มการตรวจ ATK พนักงาน/แรงงาน ทุกสัปดาห์ เป็นต้น
ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.2564 ระลอก5 ถือเป็นช่วงหลังการแพร่ระบาดใหญ่และเตรียมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย แนวทางการดูแลรักษาของภาครัฐ จึงเน้นไปที่การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ผู้ติดเชื้อรับยาตามอาการนำไปรับประทานที่บ้านระหว่างกักตัว หรือเรียกว่า เจอ แจก จบ แต่ยังคงคำเตือนให้สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้ได้ย่างน้อย 3เข็มต่อคน
21 ธ.ค.2564 ไทยสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครบ 100 ล้านโดส เร็วกว่าเป้าถึง 10 วัน จากที่ตั้งเป้าไว้ภายในสิ้นปี 2564
19 ก.ค.2565 ไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากกว่า 140 ล้านโดส ขณะที่แนวโน้มผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงวัคซีนมีประสิทธิภาพ ลดอาการรุนแรงของโรคได้
21 ก.ย.2565 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติปรับโควิด-19 จาก “โรคติดต่ออันตราย” เป็นเพียง “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” มีผล 1 ต.ค. 2565
23 ก.ย.2565 ที่ประชุม ศบค. มีมติยกเลิกยก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้มีผลตั้งแต่ 30 ก.ย. ส่งผลให้ ศบค.ต้องยุบตาม มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้
24 ก.ย. 2565 ยอดผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมีเพียง 604 คน เสียชีวิต14 คน ฉีดวัคซีนแล้วรวมกว่า 143 ล้านโดส โดยยอดผู้ติดเชื้อฯ ต่ำกว่า 1 พันคนต่อวัน เป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน
30 ก.ย. 2565 การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่นายกรัฐมนตรี และ ครม.ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมการระบาดของโควิด มีผลบังคับใช้
1 ต.ค. 2565 ยุบ ศบค. และ การใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งการปรับโควิดมาเป็นเพียงโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่มมีผลบังคับใช้
การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การผ่อนคลายมาตรการป้องโควิด และเสียงสะท้อนจากต่างประเทศ
นอกจากการป้องกัน รักษา และฉีดวัคซีนแล้ว ทางรัฐบาลได้แก้ไขสถานการณ์วิกฤตโควิดในอีกหลายด้าน เช่น
การเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ทางรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาออกมาตั้งแต่โควิดระบาด เช่น เงินช่วยเหลือรายละ 5,000บาท ตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน , เพิ่มเงินให้อีกเดือนละ 200บาทแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ,โครงการคนละครึ่งที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันเป็นเฟสที่5 , เงินเยียวยาลูกจ้างและนายจ้าง ตาม ม.33 ม.39 ม.40 ,ลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนทั่วไป , พักชำระหนี้ เป็นต้น
การผ่อนคลายมาตรการ ทางรัฐบาลโดย ศบค.ให้ความสำคัญต่อเรื่องนึ้เช่นกัน การระบาดในระยะแรกมีการตรวจคัดกรองโรคและกักตัวผู้เดินทางเข้ามายังไทยอย่างเข้มข้น มีการกักตัวถึง14 วัน เพื่อสังเกตอาการก่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ลดวันกักตัวลงต่อเนื่อง เหลือ 7 วัน เหลือ 3 วัน ตามลำดับ จนมาถึง 1 พ.ย.2564 สามารถเปิดประเทศรับผู้เดินทางเข้าไทยทางอากาศโดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องฉีดวัคซีนครบโดสและมีหลักฐานการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR จากประเทศต้นทาง จากนั้นมาถึงวันที่ 1 ก.ค. 2565 ไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบทุกช่องทางโดยไม่มีกักตัว ไม่ต้องมีผลตรวจ RT-PCR ไม่ต้องซื้อประกันสุขภาพ ยกเลิกตรวจTest & Go ยกเลิกระบบThailand Pass ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนภายในประเทศก็มีการผ่อนคลายมาตรการลงตามสถานการณ์เช่นกัน จากระยะแรกห้ามเปิดสถานที่หลายประเภทที่ผู้คนรวมตัวจำนวนมากได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สนามกีฬา ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯ จากนั้นก็ผ่อนคลายเปิดสถานที่ต่างๆมาเป็นระยะ จนมาถึง 1 ก.ค.2565 มีการปรับพื้นที่ทั้งประเทศเป็นพื้นที่สีเขียว สถานบันเทิงพวกผับ บาร์ ฯ เป็นสถานที่ท้ายสุดที่เปิดเต็มรูปแบบปกติได้ถึงเวลาตีสอง หลังทุกสถานที่ทุกสถานประกอบการอื่นเปิดได้ตามปกติมาก่อนแล้ว
เสียงสะท้อนจากต่างประเทศ ในห้วงของการแก้ไขวิกฤตโควิด แม้มีอุปสรรคอยู่หลายอย่าง แต่โดยรวมถือว่าไทยมีการบริหารจัดการที่ได้ผลดีมาก ดังที่สะท้อนมาจากการสถาบันด้านสุขภาพในต่างประเทศ เช่น เมื่อเดือน พ.ย.2563 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา นำเสนอผลการวิจัยระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยจัดให้ไทยมีระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ เป็นอันดับ 6 ของโลก จาก 195 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย , ธันวาคม 2564 ทีมนักวิจัยชุดเดียวกัน ขยับอันดับของไทยมาอยู่ที่ 5 ขณะที่ปีนี้ 2565 สื่อ รัฐบาลและหน่วยงานทางการแพทย์จากหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน ซาอุฯ แสดงความชื่นชมและเชื่อมั่นต่อการแก้ไขการระบาดโควิดของไทย
ข้อปฏิบัติในยุคโควิดเป็นเพียงโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
โรคโควิด-19 ถูกปรับจากโรคติดต่ออันตราย เป็นเพียงโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ พร้อมๆกับการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติหลักๆ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ ยกเลิกแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK โรคโควิดสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ส่วนภายในประเทศผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ให้ปฏิบัติตามหลัก DMHT อยู่ห่างไว้ ใส่มาส์กกัน หมั่นล้างมือ ตรวจให้ไว ใช้ไทยชนะและหมอชนะ อย่างเคร่งครัด 5 วัน ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้เหมือนเดิม ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยังคงคำแนะนำแก่ประชาชนป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม เช่น สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ
ทั้งนี้หากนับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ( 24 มี.ค.63) จนถึงวันยกเลิก แล้วมาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน (1 ต.ค.65 ) จะมีระยะเวลารวม 2 ปี 6 เดือน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นห้วงเวลาที่ควรถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการร่วมมือร่วมใจของประชาชนทั้งประเทศ การทำงานอย่างหนักของบุคลากรทางสาธารณสุข การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล จนฟันฝ่าวิกฤตโควิดสำเร็จ พร้อมเข้าสู่ยุคเฝ้าระวังและสู่ความเป็นปกติต่อไป