ระยะนี้ที่มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้แม่น้ำสายสำคัญมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มต้องเตรียมรับมวลน้ำปริมาณมากที่อาจล้นทะลักตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้
น้ำที่มีมากขึ้นในระยะนี้แม้ดูเหมือนเป็นไปตามฤดูกาลหน้าฝนปกติ แต่ก็มีหลายคนหวั่นวิตกว่าจะถึงขั้นน้ำท่วมใหญ่เหมือนปลายปี 2554 หรือเกือบ 11 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโอกาสที่จะเกิดเช่นนั้นอีก เป็นไปได้ยากมาก เพราะหลังจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ได้ถอดบทเรียน และแก้ปัญหาในหลายด้านอย่างเป็นระบบ ทำให้การเตรียมรับมือน้ำหลากในปีนี้แตกต่างจากปี2554 อย่างมาก
ข้อห่วงใยจากนักวิชาการ หวั่นเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554
แม้นักวิชาการบางคน แสดงความเป็นห่วงว่า ช่วง 3 เดือนนี้ ก.ย.- พ.ย. 2565 ประเทศไทยจะมีพายุเข้า 2-3 ลูก ทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้นและระยะเวลายาวขึ้น ถึงขั้นเป็นฝนตกหนักสุดในรอบ 100 ปีได้ และมีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 เพราะปริมาณน้ำฝนจะเท่ากัน แต่ลักษณะการท่วมจะแตกต่างจากปี 2554 ที่น้ำมาเร็วจากน้ำหลากและการระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ แต่ปีนี้จะมาจากน้ำฝนจากแนวพายุที่อาจจะเคลื่อนมาภาคกลาง ทำให้น้ำเต็มทุ่งจนล้นเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ
มั่นใจระบบเตรียมพร้อม 13 มาตรการรับมือน้ำหลาก ไม่ท่วมใหญ่เหมือนปี 2554
จากข้อวิตกกังวลดังกล่าว ทางพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ยืนยันว่า น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี2554 ไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะกรมชลประทาน และ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีแผนร่วมกันกระจายน้ำ เมื่อฝนตกมาจากทางเหนือก็กระจายน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมตลอดเวลา โดยมีกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำกำกับดูแล มีคณะกรรมการน้ำจังหวัดทุกจังหวัดพิจารณาดูปริมาณน้ำว่าจะมีมากขึ้นหรือน้อยลงตลอดเวลา ซึ่งปฏิบัติงานมากว่า 3 ปีแล้ว ไม่มีการประกาศภัยแล้งในทุกพื้นที่ตลอดเวลาการปฏิบัติงาน
การยืนยันน้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี2554 ของรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ น่าจะมาจากความมั่นใจในการปฏิบัติตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580) ของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กรณีป้องกันน้ำท่วมด้วยการระบายน้ำในแต่ละลุ่มน้ำอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งหากเกิดมีพายุเข้าไทยและมีฝนตกหนักติดต่อกันจริง การระบายน้ำที่ทำมาอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง จะทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำฝนและสามารถบริหารจัดการระบายน้ำออกในปริมาณที่จะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจเป็นวงกว้างได้
นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 3 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา เช่น กำหนดแผนงานป้องกันน้ำท่วมล่วงหน้า , บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก , ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ , ปรับปรุงคูคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว , เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ฯ จึงมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมสูงเป็นวงกว้างเหมือนปี2554
โอกาสน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี2554 มีน้อย
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) ได้เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำเมื่อปี2554 กับปีนี้ 2565 เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าปีนี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือน2554 หรือไม่ โดยสรุปดังนี้
สถานการณ์น้ำและผลกระทบปี 2554
-ไทยได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม จากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ทั้งหมด 5 ลูก ทำให้มีฝนตกหนักตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี หนักที่สุดคือช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยฝนที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้ปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 35%
-ช่วงครึ่งปีแรก เกิดปรากฏการณ์ลานีญาที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติทุกเดือน
– เกิดน้ำทะเลหนุนบ่อยครั้ง ส่งผลให้การระบายน้ำค่อนข้างยาก และเป็นไปอย่างล่าช้า
– เขื่อนใหญ่ๆ อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่องในปริมาณสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน เนื่องจากบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
– มีสิ่งกีดขวางทางน้ำมากมายทั้งจากธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
– ผลกระทบน้ำท่วมปี 2554 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 77 จังหวัด ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 65 จังหวัด หนึ่งในนั้น คือพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ถูกน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี โดยพื้นดินทั้งหมดทั้งพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เศรษฐกิจ รวมกว่า 150 ล้านไร่ได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 4ล้านครัวเรือน หรือกว่า 13 ล้านคน เสียชีวิต813 คน สูญหาย 3 คน นิคมอุตสาหกรรมถึง 7 แห่งและสนามบินดอนเมืองถูกน้ำท่วมสูง ฯ ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
สถานการณ์น้ำและผลกระทบปี 2565
-ส.ค. 2565 พบปัญหาน้ำท่วมขังกว่า 1.85 ล้านไร่ น้อยกว่าอยู่ 3 เท่าเมื่อเทียบกับ ส.ค.ปี 2554 ซึ่งปีนั้นท่วม 5.59 ล้านไร่
– เกิดปรากฏการณ์ลานีญาเหมือนปี 2554 ทำให้ฝนมาเร็วส่งผลให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงขึ้นแต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2554
– ก.ย. และ ต.ค. อาจเกิดพายุขึ้น 2-3 ลูก แต่บางลูกไทยอาจไม่ได้รับอิทธิพลโดยตรง
– ปริมาณฝนคาดการณ์ช่วงปลายปี (ส.ค.-พ.ย.) มีสูงกว่าค่าปกติ แต่สถานการณ์น้ำหลากจะไม่เหมือนกัน
– หากปริมาณฝนในภาคกลางมีมากกว่า 18 % ของค่าปกติ มีความเสี่ยงสูงจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 ถ้าฝนตกเหนือเขื่อน ปริมาตรรองรับน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือยังมีประมาณ 50% แต่หากตกใต้เขื่อน จะสร้างปัญหาให้กับภาคกลางแบบน้ำท่วมทุ่งค่อยๆหลากเข้าเมือง สำหรับภาคอื่นๆยังมีความเสี่ยงเช่นกัน
เมื่อดูจากปัจจัยเปรียบเทียบกันแล้ว ทางจิสด้า สรุปว่า มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากที่น้ำจะท่วมใหญ่เหมือนปี2554 แต่จะมีบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคอีสาน จะยังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมมากขึ้นในเดือนกันยายนต่อเนื่องไปถึงเดือนตุลาคม แต่ความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าในช่วงนับจากนี้ไป พื้นที่ประเทศไทยจะเจอกับมรสุมอีกหรือไม่
ส่วนการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทาน ระบุว่า ปีนี้ประเทศไทยจะเจอกับ “น้ำท่วมขัง” เป็นระยะ แต่ไม่ถึงระดับ “น้ำท่วมใหญ่”
ทั้งนี้เมื่อประเมินข้อมูลจากแต่ละฝ่ายแล้ว จะเห็นได้ว่า สภาพดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำ การเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการระบายน้ำรองรับน้ำฝนมาต่อเนื่องของภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ระหว่างปี2554 กับปีนี้ 2565 มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้นการที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก