พัฒนาต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐาน “ราง-ทาง-น้ำ-อากาศ” เพื่ออนาคตไทยที่ยั่งยืน
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง” เพื่อให้การเดินทางของประชาชนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ พร้อมกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยวไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุมทั้งระบบราง ทางหลวง ทางน้ำ และทางอากาศ สรุปโครงการสำคัญได้ดังนี้
การขนส่งทางราง อาทิ โครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดให้บริการแล้ว 11 เส้นทาง 141 สถานี รวมกว่า 211.94 กิโลเมตร โดยเปิดให้บริการเส้นทางใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ, รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน
ส่วนโครงการที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการช่วงสถานีภาวนา-สำโรง ในเดือนมกราคม 2566 และจะเปิดเต็มรูปแบบเดือนมิถุนายน 2566, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการช่วงสถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติในต้นปี 2566 และจะเปิดเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2566
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2568 ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ตามแผนงานคาดว่าจะก่อสร้างในปี 2566 เปิดให้บริการในปี 2570, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างแล้ว ตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2570
ขณะเดียวกัน กำลังเตรียมประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร, ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร, และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างปรับปรุงแบบสถานีราชวิถี
โครงการรถไฟทางคู่ เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร รวมทั้งการเปิดใช้ “สถานีกลางบางซื่อ” สถานีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศ ได้แก่ รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
โครงการที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กิโลเมตร, สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กิโลเมตร, สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร, รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.1 กิโลเมตร, สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร และในปีนี้กำลังผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว-จีน
โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่รัฐบาลไทยลงทุนและก่อสร้างงานโยธาเองทั้งหมด เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569 ส่วนเฟสที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยให้เอกชนร่วมทุนเป็นระยะเวลา 50 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567
การขนส่งทางบก ได้พัฒนาถนนและสะพานหลายรูปแบบ อาทิเปิดทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร, เปิดทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร และกำลังก่อสร้างมอเตอร์เวย์อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร และหมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2566 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2567
อีกด้านหนึ่ง ยังก่อสร้างทางด่วนมุ่งหน้าสู่ภาคใต้ ได้แก่ ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร กับทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับบนเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 พร้อมกันนี้ ยังศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) รวม 10 เส้นทาง บูรณาการมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ร่วมกัน เพื่อลดการเวนคืนที่ดิน แบ่งแยกชุมชน พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่
ส่วนการก่อสร้างถนน ที่ผ่านมามีการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนมิถุนายน 2565 กรมทางหลวงมีกิจกรรมก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน 107 โครงการ สะพานและทางต่างระดับ 18 โครงการ เร่งรัดขยายทางสายประทานให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะที่สอง 15 โครงการ แก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองหลัก 22 โครงการ ทางหลวงเชื่อมต่อระบบขนส่ง 8 โครงการ ทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 17 โครงการ ทางหลวงรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ 19 โครงการ สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ 15 โครงการ พัฒนาทางหลวงรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 34 โครงการ
ด้านกรมทางหลวงชนบท ได้ก่อสร้างถนนลูกรังให้เป็นถนนลาดยาง พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ สนับสนุนยุทธศาสตร์ชายแดน อีกทั้งเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน และบริการคมนาคมอย่างบูรณาการ ได้แก่ ก่อสร้างถนนเข้าโครงการพระราชดำริ ก่อสร้างถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว ก่อสร้างสะพานในภูมิภาค ก่อสร้างถนนผังเมือง และแก้ไขปัญหาจราจรในเขตปริมณฑลและภูมิภาค ปัจจุบันมีโครงข่ายสายทางหลวงชนบท 3,402 เส้นทาง รวมระยะทาง 49,123.785 กิโลเมตร
การขนส่งทางน้ำ ส่งเสริมการเดินทางให้สะดวกปลอดภัย เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้ทุกระบบ ทั้งรถประจำทาง และระบบรถไฟฟ้า เชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ลดปัญหาการจราจรติดขัด เช่น พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะ 118 แห่ง โดยเฉพาะการปรับปรุงท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่งให้เป็นสถานีเรือนำเทคโนโลยีระบบดิจิทัลพัฒนาให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier), สนับสนุนการใช้เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า EV แทนการใช้น้ำมัน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มศักยภาพท่าเรือส่งสินค้า 5 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือขนส่งสินค้า ทั้งลำน้ำภายในประเทศและชายฝั่งทะเล สนับสนุนระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งพัฒนาท่าเรือในภูมิภาคสนับสนุนการท่องเที่ยว 37 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพทางการเดินทางที่รวดเร็วสะดวกสบาย และก่อสร้างเขื่อนป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง 42 แห่ง ตลอดจนฟื้นฟูพื้นที่ชายหาด เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกด้วย
การขนส่งทางอากาศ เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศ อาทิ พัฒนาท่าอากาศดอนเมืองระยะที่ 2 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี, ยกระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยก่อสร้างงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1) พร้อมระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารหลัก, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อผลักดันให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 รองรับผู้โดยสารทั้งสามสนามบินได้ 200 ล้านคนต่อปี
ส่วนท่าอากาศยานภูมิภาค ก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ทั้งการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ทางขับขนาน ขยายลานจอดเครื่องบิน ติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน เพื่อรองรับการขยายตัวของเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร อาทิ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เป็นต้น
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้น เป็นการวางแผนเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ทั้งการเดินทางระบบราง ที่มี “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นศูนย์กลางรองรับรถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต จากทุกภูมิภาคของประเทศ กระจายต่อผ่านโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา หรือแม้แต่การขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงจากภูมิภาค ผ่านไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี รองรับการขนส่งทุกรูปแบบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และการขนส่งสินค้าที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นรากฐานสำคัญสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต