Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

532 views

ไปต่อไม่รอแล้ว!! ลุยระบบราง ไทย – มาเลเซีย หลังโควิดคลาย


ต่อเนื่องความร่วมมือระบบราง ไทย – มาเลเซีย หลังโควิดคลี่คลาย รัฐบาลมุ่งหารือสร้างรถไฟความเร็วสูงสายใต้ เชื่อม 5 ประเทศ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้รถไฟไทย – มาเลเซีย ที่ให้บริการวิ่งไปมาระหว่างสถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา กับสถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซีย ต้องหยุดไปกว่า 2 ปี จนเมื่อการแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง การวิ่งให้บริการจึงได้กลับมาอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนกรกรฎาคมที่ผ่านมา

การกลับมาวิ่งให้บริการไปมาระหว่างกันครั้งนี้ มาพร้อมๆ กับความร่วมมือในระบบรางของทั้งสองประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงในอนาคต เพราะหากมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกันแล้ว จะมิใช่เพียงการเชื่อมต่อระหว่างไทยกับมาเลเซีย แต่จะเป็นการเชื่อมต่อกันได้ถึง 5 ประเทศ คือ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมมากมายของทั้ง 5 ประเทศ

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้าหารือเรื่องการเชื่อมต่อกับทางมาเลเซีย เพราะเล็งเห็นผลประโยชน์อย่างมากที่จะเกิดขึ้นกับไทยในภายหน้า จากการที่ไทยมีที่ตั้งอันได้เปรียบ เป็นศูนย์กลางของ 5 ประเทศ และศูนย์กลางอาเซียน

ความสัมพันธ์ทางราง ไทย – มาเลเซีย หลังโควิด-19 คลี่คลาย

รถไฟสายสถานีชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558 หรือเกือบ 7 ปีก่อน แต่ต้องมาสะดุดหยุดให้บริการตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 เพราะขณะนั้นสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก ทางการมาเลเซียออกมาตรการห้ามเข้า-ออกประเทศ จากนั้นเวลาผ่านมากว่า 2ปี การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย รถไฟชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) จึงกลับมาเปิดเดินรถวิ่งให้บริการไปมาระหว่างกันอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 วันละ 4 ขบวน (ไป-กลับ) ในแต่ละขบวนมีตู้โดยสารประมาณ 4-5 ตู้ ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสาร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 380 คนต่อขบวน

การเปิดเดินรถอีกครั้งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนแล้ว ยังรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวมาเลเซียจะเดินทางโดยรถไฟ KTM มาที่สถานีปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) แล้วต่อขบวนรถไฟจากปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ เข้ามายังไทย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การกลับมาเปิดเดินรถไฟระหว่างกันอีกครั้งตั้งแต่ 15 กรกรฎาคม 2565 ความร่วมมือในการขนส่งทางราง ไทย-มาเลเซีย ได้เพิ่มขึ้นไปด้วย เช่น

11 ส.ค.2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มเปิดให้บริการขบวนรถไฟสายใต้เพิ่มอีก 2 ขบวน เส้นทางกรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ – กรุงเทพ เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเชื่อมต่อระหว่างไทยและมาเลเซีย หลังจาก ศบค. ได้ประกาศผ่อนคลายข้อปฏิบัติมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขบวนรถจึงเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง

15 ส.ค.2565 มีพิธีเปิดทดลองเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับการรถไฟมาเลเซีย ผ่านเส้นทางเดินรถสายใหม่ จากปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) ถึงจังหวัดหนองคาย และเชื่อมต่อไปยังสถานีท่านาแล้งใน สปป.ลาว เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าผ่านแดน และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟของทั้ง 3 ประเทศ โดยขบวนทดลองได้ขนสินค้า 20 ตู้ ใช้เวลา 5 วัน จากปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) ถึงสถานีท่านาแล้งใน สปป.ลาว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างการรถไฟทั้ง 2 ประเทศที่สนับสนุนให้มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสร้าง Landbridge เส้นทางใหม่ เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรางจากประเทศมาเลเซียถึงไทย ส่งต่อไปที่ สปป.ลาว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ

16 ส.ค. 2565 ปลัดกระทรวงคมนาคมของไทยประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย เป็นการดำเนินการต่อจากผลการหารือของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ในประเด็นการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยฝ่ายมาเลเซียได้แจ้งความประสงค์ที่จะเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงกับประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และจีน พร้อมเห็นด้วยกับแนวคิดของไทยที่เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อจัดทำแผนแม่บทเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง 5 ประเทศ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้คณะทำงานความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ไปหารือร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นก่อนนำเข้าหารือต่อในการประชุมด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ต่อไป

โอกาสเกิดรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 5 ประเทศ

สำหรับเส้นทาง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 5 ประเทศ จะเริ่มต้นจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน สู่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. (เส้นทางรถไฟลาว-จีน ปัจจุบัน) เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของไทย ที่ จ.หนองคาย (เมื่อสร้างเสร็จ) ผ่านภาคอีสานมายังสถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสายภาคใต้ (เมื่อสร้างเสร็จในอนาคต) มุ่งสู่สถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา ไปเชื่อมต่อมาเลเซีย ที่ด่านปาดังเบซาร์ วิ่งเข้าสู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย จากนั้นวิ่งลงทางทิศใต้ มุ่งสู่ปลายทางประเทศสิงคโปรค์ ระยะทางรวมกว่า 3,500 กม.

จากเส้นทางดังกล่าว เห็นได้ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอยู่ในไทยมากสุดประมาณ 1,676 กม. แยกเป็นรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ – หนองคาย 606 กม.(อยู่ระหว่างก่อสร้าง) และรถไฟความเร็วสูงสายใต้ กรุงเทพฯ -ปาดังเบซาร์ (หากมีการสร้าง) ประมาณ 970 กม. โดยเฉพาะสายใต้หากมีการสร้างน่าจะเป็นเส้นทางที่มีความยาวและมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในบรรดาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของไทย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนสร้าง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งความคุ้มค่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเชื่อมต่อ 5 ประเทศได้จริง ส่วนโอกาสเกิดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 5 ประเทศได้สำเร็จนั้น หากพิจารณาตามสภาพการณ์ปัจจุบัน เห็นได้ว่า รถไฟลาว – จีน ( 1,035 กม.) สร้างสำเร็จและวิ่งให้บริการแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รถไฟความเร็วสูงไทย – จีน กรุงเทพฯ – หนองคาย ( 606 กม.) กำลังก่อสร้างจะแล้วเสร็จวิ่งให้บริการได้ภายในปี 2571 ดังนั้นในส่วน 3 ประเทศ ไทย ลาว จีน น่าจะเชื่อมต่อกันได้สำเร็จภายในปี 2571

ส่วนการเชื่อมต่ออีก 2 ประเทศ มาเลเซียและสิงคโปร์ จึงขึ้นอยู่กับ 2 ประเทศว่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกันและสร้างส่วนที่จะมาเชื่อมต่อกับไทย อย่างไร? เมื่อไหร่? เชื่อว่าหากมาเลเซียและสิงคโปร์ ได้ข้อสรุปพร้อมก่อสร้าง ทางไทยก็พร้อมเดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูงสายใต้ เชื่อมต่อ 5 ประเทศเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส