ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบ ให้มีร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ กำหนดกรอบวงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท ระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี เพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่อง และดูแลเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากที่ผ่านมา ราคาน้ำมันมีความผันผวนจากปัจจัยวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ในอดีต กองทุนน้ำมัน มีสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล โดยมีรายรับหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต จากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ, ภาษีศุลกากร จากบริษัทผู้นำเข้าน้ำมัน และจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่เรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมันและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ เพื่อนำมาใช้พยุงราคาและรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง มิให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมาในช่วงที่กองทุนน้ำมันเคยมีเงินทุนติดลบ สามารถออกเงินกู้หรือตราสารหนี้ได้ โดยที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และจัดตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาแทนที่ โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงทำให้มีข้อจำกัดในการออกเงินกู้ หรือตราสารหนี้ อีกทั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มาตรา 26 วรรคสอง กำหนดให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี กู้ยืมเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย กับประเทศยูเครน อีกทั้งหลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ส่งผลทำให้ผู้ซื้อน้ำมันในหลายประเทศ ยังคงหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันจากประเทศรัสเซีย อีกทั้งการกลับมาเปิดเมืองและผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ของหลายประเทศในทวีปเอเชีย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย เกิดความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอยู่ในระดับที่สูง และเกิดวิกฤตพลังงานในระยะต่อมา
รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานทุกกลุ่ม อย่างต่อเนื่องในหลายมิติ โดยเฉพาะการออก 10 มาตรการลดค่าครองชีพ และลดภาระราคาพลังงานให้กับประชาชน เป็นระยะเวลา 3 เดือน พร้อมยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร การกำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มโดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วย และการคงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้ใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้เป็น 5 บาทต่อลิตร แต่ถึงกระนั้น ไม่ได้ลดราคาหน้าสถานีบริการน้ำมันทันที เพราะต้องนำมาช่วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พยุงราคาดีเซลให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรให้ได้นานขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน จากหลากปัจจัยที่เกิดกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งการเปิดประเทศของจีน มาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศรัสเชีย และน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐอเมริกาที่ลดลง ทำให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซล ตามสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ กระทั่งล่าสุดอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท แต่ได้ลดการจัดเก็บอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทแก๊สโซฮอลล์ 91, 95 และ E20 เพื่อให้ราคาขายปลีกลดลง ขณะที่คณะรัฐมนตรี ได้วางมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2565 ที่จะถึงนี้
เมื่อพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย จะพบว่า น้ำมันที่เติม 1 ลิตร จะประกอบด้วย ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คิดเป็น 40-60% ซึ่งเคลื่อนไหวไปตามราคาน้ำมันโลก ที่ผันผวนตามความต้องการซื้อและต้องการขาย ตามมาด้วยภาษีต่างๆ อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็น 30-40% กองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็น 5-20% และสุดท้าย คือ ค่าการตลาด คิดเป็น 10-18%
หากไม่ใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันจะสูงกว่านี้ และเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน เช่น สปป.ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ราคาน้ำมัน ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 44.11-48.18 บาทต่อลิตร เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้สูงเกินกว่า 35 บาทต่อลิตร จะช่วยให้ประชาชนจ่ายค่าน้ำมันน้อยกว่าที่เป็นอยู่ และมีเงินเหลือสำหรับค่าครองชีพ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเติมน้ำมันดีเซล จำนวน 30 ลิตร หากเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลในอดีต ที่เคยปรับขึ้นสูงที่สุดในประเทศไทย 44.24 บาทต่อลิตร จะต้องจ่ายค่าน้ำมันสูงถึง 1,327.20 บาท แต่เมื่อรัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร ประชาชนจะจ่ายค่าน้ำมันเพียงแค่ 1,050 บาท หรือคิดเป็นส่วนต่างถึง 277.20 บาทเลยทีเดียว ซึ่งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล นอกจากจะส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลแล้ว ยังลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มเกษตรกรที่ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุว่า ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สิ้นสุด ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2565 พบว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ติดลบ 117,394 ล้านบาท ประกอบด้วย บัญชีน้ำมัน ติดลบ 76,518 ล้านบาท และบัญชีก๊าซแอลพีจี ติดลบ 40,876 ล้านบาท โดยพบว่ามีหนี้สินจากเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ 90,535 ล้านบาท และเงินชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง 30,065 ล้านบาท เมื่อเทียบกับวันที่ 2 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 5,945 ล้านบาท จากเงินชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง 23,178 ล้านบาท
จากความผันผวนของราคาพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนลง ความต้องการพลังงานในต่างประเทศที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว มีแนวโน้มที่สูงขึ้น และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจกระทบต่อราคาพลังงานในวันข้างหน้า ทำให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เสนอร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานหารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการการเงินเพื่อศึกษาทางเลือก ก่อนเสนอและเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา
การกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า จะทยอยกู้ยืมเงินตามความจำเป็น โดยต้องดูวินัยการเงินการคลัง เพื่อไม่ให้เกินกรอบวงเงินที่กำหนด ซึ่งตัวเลข 150,000 ล้านบาทนั้น มาจากการคำนวณของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหมาะสมและยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ยืนยันว่าไม่ใช่หนี้ใหม่ที่รัฐบาลก่อขึ้น แต่เป็นแนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติ ให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นมากขึ้น ขอให้เกิดความมั่นใจ และให้มีความเชื่อมั่นว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องความเข้มแข็งของเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ก็ดูแลเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ภายใต้กรอบที่จะต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินการคลัง
สำหรับคำถามที่ว่า คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายโยกหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นหนี้สาธารณะและให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับนั้น
แม้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงว่า ยังมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ การกู้เงินจึงนับเป็นหนี้สาธารณะ แต่ขณะนี้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงินแต่อย่างใด และแม้ร่างพระราชกำหนดดังกล่าว จะกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ แต่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้ โดยใช้รายได้ของตนเอง และกระทรวงการคลังไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้กับ สกนช. ได้ ดังนั้น จึงไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และไม่ได้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชนแต่อย่างใด