รัฐบาลเดินหน้าแผนเชื่อมระบบราง ไทย ลาว จีน เตรียมสร้างสะพานข้ามโขงแห่งใหม่ หนองคาย-เวียงจันทร์ จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง 5 ประเทศ
ที่จริงแล้วทางรถไฟเชื่อมต่อไทยกับลาว เปิดใช้มาตั้งแต่ 5 มีนาคม 2552 หรือกว่า 13 ปีมาแล้ว เป็นเส้นทางรถไฟจากสถานีหนองคาย ฝั่งไทย วิ่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่1 สู่สถานีท่านาแล้ง ฝั่ง สปป.ลาว ระยะทางรวม 5.35 กม.
ทว่าการเชื่อมต่อระบบรางระหว่างประเทศที่กำลังถูกพูดถึงขณะนี้ คือการเชื่อมต่อระบบรางทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน ที่จะเป็นการเชื่อมต่อผ่านสะพานข้ามโขงแห่งใหม่ในจังหวัดหนองคาย ฝั่งไทย สู่นครหลวงเวียงจันทร์ ฝั่ง สปป.ลาว ไปเชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน
สะพานข้ามโขงแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้น เป็นไปตามแผนของคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น โดยจะสร้างร่วมกับ สปป.ลาว ซึ่งสะพานข้ามโขงแห่งใหม่นี้นอกจากจะเป็นจุดเชื่อมต่อ ไทย ลาว จีน แล้ว ยังถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเชื่อมต่อ 5 ประเทศ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เข้าด้วยกันโดยรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
เปิดแบบเบื้องต้นสะพานข้ามโขงแห่งใหม่ เชื่อมรถไฟไทย-ลาว-จีน
จากการประชุมร่วมไทย-ลาว ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายไทยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน ร่วมกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ในส่วนของสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ทาง สปป.ลาวเห็นว่าควรแยกโครงสร้างสะพานรถไฟกับโครงสร้างสะพานรถยนต์ออกจากกัน โดยให้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ รวมถึงจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ทั้งสะพานรถไฟและสะพานรถยนต์ไปพร้อมกัน แต่ช่วงเวลาในการก่อสร้างจะพิจารณาตามความเหมาะสม
โดยลำดับแรกจะเป็นการก่อสร้างสะพานรถไฟก่อน จะมีทางรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1 เมตร และทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร(สำหรับรถไฟความเร็วสูง) เมื่อสร้างสะพานรถไฟเสร็จเปิดให้บริการได้ จะปรับการใช้งานสะพานเดิม (สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 1) มาใช้สำหรับรถยนต์อย่างเดียว ส่วนสะพานแห่งใหม่สำหรับรองรับรถยนต์ จะมีการก่อสร้างในระยะต่อไปเมื่อสะพานเดิมมีปริมาณรถยนต์มากขึ้นจนเกิดการติดขัด
ทั้งนี้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ จะอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่ง1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) 30 เมตร
ทีมไทยแลนด์เตรียมเดินทางไปหารือกับ สปป.ลาว อีกครั้งปลายเดือนนี้
การหารือระหว่างคณะของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย กับทางรัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว แม้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว แต่ในขั้นตอนต่อไปทางหน่วยงานภายใต้ 7 กระทรวง หรือทีมไทยแลนด์ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน กำลังเร่งสรุปปัญหาและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อนำประเด็นต่างๆ ไปประชุมหาข้อสรุปร่วมกับผู้แทน สปป.ลาว อีกครั้ง ในช่วงวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย. 2565
เล็งขยายเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง เป็น 5 ประเทศ
แม้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ของไทย ยังสร้างไปไม่ถึงจุดเชื่อมต่อที่ จ.หนองคาย โดยรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อยู่ระหว่างการก่อสร้างเฟส1 กรุงเทพฯ -นครราชสีมา และเตรียมก่อสร้างเฟส2 นครราชสีมา-หนองคาย ในปีหน้า ส่วนรถไฟทางคู่เส้นทางอีสานสร้างเสร็จแล้วถึงขอนแก่น กำลังจะขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี สร้างต่อช่วงขอนแก่น-หนองคาย อีก 167 กม. ก็ตาม แต่ในการบริหารให้มีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เผยถึงแผนขยายความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไว้ว่า กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความสำคัญการเชื่อมโยงระบบรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน ผ่านลาว มาถึงไทย ลงไปทางภาคใต้ เชื่อมกับประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ จะเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ ซึ่งได้เคยหารือร่วมกับรัฐมนตรีมคมนาคมของมาเลเซีย ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อหลายเดือนก่อน โดยได้เสนอให้ทั้ง 5 ประเทศตั้งคณะทำงานร่วมกัน และทำ Action Plan การเชื่อมต่อที่มีความชัดเจน นอกจากนี้ยังได้เคยหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยขอให้จีนเป็นแกนหลักในการหารือ ส่วนไทยเป็นประเทศตรงกลาง อยากได้ความชัดเจน เพราะหากจะลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายใต้แล้วมาเลเซียไม่มีการเชื่อมต่อจะเป็นคอขวดหรือไม่ อีกทั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าลงทุนสูงมาก การลงทุนต้องมีความคุ้มค่า ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย
ความน่าจะเป็นของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 5 ประเทศ
หากพิจารณาตามแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว มีความเป็นไปได้ที่รถไฟความเร็วสูงสายต่อไปของไทยที่จะทำการก่อสร้างต่อจากรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) และสายภาคตะวันออก(เชื่อม3สนามบิน) คือ สายภาคใต้ เพราะเห็นถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเชื่อม 5 ประเทศ
ส่วนความเป็นไปได้ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 5 ประเทศ จุดเริ่มต้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน สู่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. (เส้นทางรถไฟลาว-จีน ปัจจุบัน) เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของไทย ที่ จ.หนองคาย (เมื่อสร้างเสร็จ) ผ่านภาคอีสานมายังสถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสายภาคใต้ (เมื่อสร้างเสร็จในอนาคต) มุ่งสู่สถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงของมาเลยเซียและมุ่งสู่สิงคโปร์
เส้นทางประมาณการดังกล่าว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของทั้ง 5 ประเทศ และมีจุดเริ่มต้นเชื่อม 5 ประเทศเข้าหากันที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ หนองคาย -เวียงจันทร์ (อยู่ระหว่างหารือแผนก่อสร้างร่วม สปป.ลาว)
ส่วนปลายทางสุดท้ายของไทยก่อนเชื่อมต่อมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเป็นสถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา เพราะปัจจุบันก็เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟ(ทางเดี่ยว) ไทย-มาเลฯ มีขบวนรถไฟของทั้ง 2 ประเทศวิ่งให้บริการไปมาระหว่างกัน สถานีชุมทางหาดใหญ่ – สถานีปาดังเบซาร์ อยู่แล้ว ดังนั้นหากจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายใต้เพื่อเชื่อมต่อมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟเดิมไปถึงจุดเชื่อมต่อเดิม เพื่อเลี่ยงปัญหาการเวนคืนที่ดินให้มากที่สุด
ทั้งนี้หากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 5 ประเทศดังกล่าวสร้างสำเร็จได้ จะนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรทั้ง 5 ประเทศ ซึ่งประโยชน์จะมาจากการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันทางบกที่สะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ละประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว การค้าขายระหว่างกันมากขึ้น ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากรายได้ที่มากขึ้น โดยรายได้จะมาจากการจ้างงานระหว่างก่อสร้างทางรถไฟฯ การจ้างงานจากการบริการเดินรถและศูนย์ซ่อมบำรุง การจ้างงานจากสถานธุรกิจที่จะถูกพัฒนาขึ้นมาตามสถานีและเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของทั้ง 5 ประเทศ รายได้จากนักท่องเที่ยว เป็นต้น
โดยคาดว่าประชาชนไทยจะได้ประโยชน์ดังที่ยกตัวอย่างมามากสุด เนื่องจากไทยได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางอาเซียน การที่ทั้ง 5 ประเทศจะไปมาหาสู่ ท่องเที่ยว ค้าขายระหว่างกันตามเส้นทางนี้ ย่อมต้องผ่านหรือมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศไทย