- กระทรวงเกษตรลุยฟื้นผลผลิตกุ้งทะเล ตั้งเป้า 4 แสนตันปี 66 จากเดิมเหลือ 2.5 แสนตันปี 64 เพราะโควิด
- มุ่งจัดการข้อมูลเพื่อการบริหารแบบรอบด้าน นโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีความเสี่ยงต่างๆ การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดกุ้ง การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตกุ้งทะเล การฟื้นฟูพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเสื่อมโทรมร่วมกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม การจัดหาแหล่งเงินทุนสําหรับเกษตรกร การส่งเสริมและหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลผลิตกุ้งทะเลที่เพิ่มขึ้น
- สอดรับนโยบาย “ไทยเป็นครัวโลก” ยึดหลัก อาหารปลอดภัย (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และความยั่งยืนยัน (Sustainability)
- และยืนยันเปิดนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเฉพาะกรณีผลผลิตมีไม่พอแปรรูปเท่านั้น ไม่กระทบราคากุ้งในประเทศ
วันที่ 7 สิงหาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญหรือ “ครัวของโลก” โดยยึดหลัก อาหารปลอดภัย (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และความยั่งยืนยัน (Sustainability) ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า และวางแผนรับมือสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ
ในส่วนของผลผลิตกุ้งทะเล ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตเป็นอันดับห้าของโลก แต่ด้วการระบาดของโรคตายด่วนในปี2564 ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก เหลือเพียง 2.54 แสนตัน จากที่เคยอยู่ที่ 2.8 แสนตัน เฉลี่ยสามปีก่อนหน้า ดังนั้น นายเฉลิมชัยฯ จึงได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศ ในพื้นที่ 35 จังหวัด โดยตั้งเป้าปี 2566 ไว้ที่ 4 แสนตัน
ทั้งนี้ กรมประมงได้ดําเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ความสําคัญกับการจัดการข้อมูลเพื่อการบริหารแบบรอบด้าน ครอบคลุมการกำหนดแผนเชิงรุก นโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีความเสี่ยงต่างๆ การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดกุ้ง การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตกุ้งทะเล การฟื้นฟูพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเสื่อมโทรมร่วมกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม การจัดหาแหล่งเงินทุนสําหรับเกษตรกร การส่งเสริมและหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลผลิตกุ้งทะเลที่เพิ่มขึ้น
นางสาวรัชดา ยังได้กล่าวถึงการอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดีย ทางกรมประมงยืนยันว่าไม่กระทบต่อราคากุ้งในประเทศอย่างแน่นอน เพราะเป็นการอนุญาตให้เฉพาะช่วงเวลาที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอการแปรูปเท่านั้น โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะต้องรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ – ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไว้ ทั้งนี้ มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทางกรมฯได้ดำเนินการอย่างรัดกุม มีการประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนอย่างเด็ดขาด
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกร และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดกลไกขับเคลื่อนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลไทย ตั้งเป้า 4 แสนตันในปี 2566 ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) และคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ครอบคลุม 35 จังหวัดที่มีการเลี้ยงกุ้งทะเล มุ่งเป้าเกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโต และเมื่อเราสามารถเพิ่มผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูป ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศอีกต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว