- นายกฯเซ็นคำสั่งแต่งตั้งบอร์ดเฉพาะกิจวิกฤตเศรษฐกิจ นายกฯนั่งประธาน รมต.และปลัดกระทรวง-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั่งกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดแนวทาง ขับเคลื่อนให้ส่วนราชการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมถึงกำหนดแผนรับมือวิกฤตตามนโยบาย
วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 170/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565
โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นรองประธาน รมว.คลัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.มหาดไทย รมว.อุตสาหกรรม ปลัดกระทรวง 7 กระทรวง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ ด้วย
นายธนกรกล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด และกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อน ในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ขณะที่คณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่ติดตาม และตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจและกลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการฯ รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ
“จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยต้องประสบปัญหาการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในห่วงโซ่การเกษตร อันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนแผนเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานและอาหาร ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว อย่างรอบคอบ ยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศให้น้อยที่สุด” นายธนกร กล่าว