“ว่านเข้าพรรษา” เป็นไม้ล้มลุก พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคกลางที่สระบุรี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง100–200 เมตร นิยมนำไปถวายพระเช่นเดียวกับดอกเข้าพรรษาในสกุล Globba คำระบุชนิดตั้งตามชื่อคุณสุปราณี คงพิชญานนท์ ผู้ส่งตัวอย่างให้ผู้วิจัย
ว่านเข้าพรรษา : ใบเรียงเวียนรอบลำต้น ช่อดอกยาว ดอกเรียงเป็นวงแน่นรอบช่อ ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม ปลายโค้งออก กลีบปากสีเหลือง ปลายจักลึก 2 พู
มีความสูง 50–150 ซม. ใบเรียงเวียน มี 5–7 ใบ โคนเป็นกาบ ลิ้นใบขนาดเล็ก ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 30–35 ซม. ใบที่โคนและบนช่อดอกขนาดเล็ก ช่อดอกออกที่ยอด ก้านช่อส่วนมากยาว 30–50 ซม. ดอกเรียงเป็นวงรอบช่อ ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม ปลายโค้งออก แต่ละใบประดับมีดอกเดียวใบประดับย่อยยาว 5–6 มม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ยาว 7–10 ซม. ปลายแยก 3 แฉก ดอกสีครีมอมเหลือง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2.5 ซม. ปลายจักไม่เท่ากัน ยาว 0.8–1 ซม.
กลีบหลังคล้ายหมวก กลีบข้างปลายมน แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันขนาดเล็กกว่ากลีบดอก ปลายแหลมกลีบปากสีเหลือง ปลายจักลึก 2 พู แต่ละพูปลายเว้าตื้น พับลง เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 5 มม. สีเหลืองยอดเกสรเพศเมียสีขาวรูปกรวย มีต่อมน้ำต้อยที่โคน ผลแห้งไม่แตก ยาว 1–1.5 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. เมล็ดยาว 3–4 มม. มีเยื่อหุ้มสีน้ำตาล
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
(ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)