519 views

ทางออก ม.33 ปรับ กม.ใหม่!! 3 ขอ “ขอรับบำเหน็จ ขอกู้ ขอคืนเงิน ”


สปส.เปิดทางออกผู้ใช้แรงงาน ม.33 หลังการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน “3 ขอ” สามารถ “ขอเลือก-ขอกู้-ขอคืน” เพื่อเป็นทางเลือกสิทธิประโยชน์ได้เองตามความต้องการ มั่นใจสถานะภาพกองทุนเพียงพอในการรองรับ

สำนักงานประกันสังคม เผยข้อมูลถึงความเป็นไปได้ตามแนวทาง “3 ขอ” ใน ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการแก้ไข ตามที่ผู้ใช้แรงงานได้ออกมาเรียกร้องยัง สปส. เพื่อให้ผู้ประกันตนมีโอกาสได้รับทางเลือกและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเงินของตนเองได้ จนเกิดเป็นแนวทาง “3 ขอ” ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย

1.ขอเลือก ตามกฎหมายประกันสังคมฉบับเดิม กำหนดว่าผู้ที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน และเป็นผู้ที่ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในอายุ 55 ปี จะได้สิทธิรับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในอายุ 55 ปี แต่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้สิทธิชราภาพในการรับเงินบำเหน็จ

2.ขอกู้ มาจากการที่ผู้ประกันตนเกิดความเดือดร้อน และมีคำถามถึงความต้องการกู้เงินของตนเองที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่เนื่องจากประกันสังคมไม่มีการปล่อยกู้ ฉะนั้นในส่วนนี้จึงจะต้องทำ  MOU กับธนาคารทั้งหมด ซึ่งหากมีธนาคารใดตอบรับข้อเสนอและมีข้อตกลงร่วมกันได้ ก็สามารถทำได้เลย โดยที่ธนาคารก็ต้องไม่คิดดอกเบี้ยแพง เพราะผู้ประกันตนสามารถกู้ได้โดยที่ สปส. เข้าไปสนับสนุนในเรื่องของการค้ำเงินกู้

3.ขอคืน (บางส่วน) เป็นการขอคืนเงินบางส่วนจากเงินสมทบที่ส่งมายังประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 60 เดือน และมีเงื่อนไขว่าต้องเกิดเหตุการณ์วิกฤตในประเทศ หรือพื้นที่นั้นๆ ออกมาประกาศชัดเจน เช่น วิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตภัยพิบัติ หรือโรคระบาด ที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถออกมาทำงานได้อย่างปกติ แต่หากเป็นวิกฤติเรื่องส่วนตัวจะไม่สามารถขอคืนได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ทำให้ผู้รับเงินบำนาญบางราย ซึ่งมีความต้องการที่จะรับเงินเป็นบำเหน็จตามเหตุผลส่วนตัวของแต่ละราย ทางกระทรวงแรงงานจึงได้ให้ สปส. หาทางออกให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน สามารถรับเป็นบำเหน็จได้ตามความต้องการ

ตามเจตนารมณ์ของ สปส. คืออยากให้เป็นบำนาญมากกว่า เพราะจะได้มีเงินใช้ได้ตลอดทุกเดือน แต่ด้วยความจำเป็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจึงจะออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ตามเจตนารมณ์ของตนเอง

การแก้กฎหมาย ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มช่องทางเลือกให้กับผู้ประกันตน เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความจำเป็นต่างๆ หรือมีความเดือดร้อน สามารถจัดการตัวเองได้

ทางกระทรวงการคลัง ได้ให้ สปส. เข้าไปชี้แจงถึงสถานภาพทางกองทุน ว่าการออกกฎหมาย “3 ขอ” นี้จะทำให้กองทุนมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งทาง สปส. มีกฎหมายรองที่คอยดูแลอยู่แล้วว่าจะสนับสนุนตนเองอย่างไรไม่ให้เสียศูนย์ มีข้อระเบียบและข้อบังคับจากผู้ประกันตนที่ชัดเจน จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องกองทุนอย่างแน่นอน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส