- กทม.จับมือ DGA และ ก.พ.ร. ใช้ระบบดิจิทัลเพิ่มความโปร่งใส นำร่างงบปี 66 ขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ
- รวมถึงนำสัญญาต่างๆ เปิดเผยให้ประชาชนร่วมรับรู้ และ ก.พ.ร. จะจัดทำแอปให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและโหวตในเรื่องต่างๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการต่างๆ มีความโปร่งใส
- พร้อมให้ประชาชนใน กทม. ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ผ่านแอป “ทางรัฐ” รวมถึงเตรียมให้ทำเรื่องใบขออนุญาตต่างๆ ทางออนไลน์ได้ภายในปลายปีนี้
วันที่ 20 มิ.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมความร่วมมือด้านบริการดิจิทัล ภาครัฐ ร่วมกับ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) (DGA) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) โดยนางสาว อ่อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยเปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่สุดของกทม. คือการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การเพิ่มความโปร่งใส และลดขั้นตอนต่างๆ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการทำกระบวนการต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้การบริการประชาชนดีขึ้น ลดการใช้ดุลยพินิจของบุคคล และพยายามเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า DGA และ ก.พ.ร. มีหลายโครงการที่ดีมากและสามารถช่วยกรุงเทพมหานครทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรื่องแรก Open Data เป็นการนำข้อมูลต่างๆ เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ DGA มีเว็บไซต์ที่สามารถลิงก์ข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนเข้ามาค้นหาข้อมูลได้ วันนี้ กทม.จึงเริ่มวันแรกด้วยการนำข้อมูลงบประมาณประจำปี 2566 เปิดเผยขึ้นเว็บไซต์ กทม.พร้อมลิงก์ไปที่เว็บไซต์ของ DGA เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลงบประมาณว่าใช้เกี่ยวกับอะไร รวมทั้งเรื่อง Open Contract โดยนำสัญญาต่างๆ ที่เปิดเผยได้มาเปิดเผยเพื่อให้เห็นความโปร่งใสและแนวทางว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ก็มีแอพพลิเคชันที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและโหวตในเรื่องต่างๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความโปร่งใส
เรื่องที่ 2 สิทธิประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถตรวจสอบในเรื่องของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยคนพิการได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งมีการเชื่อมข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ ขณะเดียวกันก็มีระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการขอใบอนุญาตต่างๆ ทางออนไลน์ ซึ่งต่อไปจะรวมถึงเรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้างด้วย สามารถทำให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณาและสามารถขออนุญาตออนไลน์ได้
เรื่องที่ 3 การพัฒนาเอกสารหลักฐานทางการศึกษารูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพทุกแห่ง โดยต่อไปคนที่เรียนจบจะได้รับ Digital Transcript ไปสมัครงาน หรือเรียนต่อ ได้อย่างสะดวกและไม่ถูกปลอมแปลงเอกสาร
เรื่องที่ 4 การสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรกรุงเทพมหานครด้านดิจิทัล DGA จะร่วมสนับสนุน อาจมีการจัดแคมป์ร่วมกันเพื่อพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ GDA มีแหล่งเรียนรู้สำหรับข้าราชการกรุงเทพมหานครทุกคนที่จะเข้ามาพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง ด้าน ก.พ.ร. ก็มีหลายโครงการที่กทม. เข้าร่วมได้ อาทิ โครงการประกวดประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การจัดการขยะที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการได้ทันที และจะมีการหารือกันทุกเดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ
“ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญที่เป็นการใช้งบประมาณไม่มาก แต่ว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตซึ่งสามารถทำให้เป็น One Stop Service หรือ Super license ที่สามารถขอใบอนุญาตหลายใบในครั้งเดียวโดยไม่ต้องทำหลายกระบวนการ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ที่อยากจะทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น และเพิ่มความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือ One Stop Service ให้ประชาชนใช้บริการขอใบอนุญาตออนไลน์ คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 65”
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว