Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

297 views

บทวิเคราะห์: 3 วาระร้อนต้องติดตาม ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน ประชุมรัฐสภาฯ ครั้งที่1/2565


การประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญ ประจำปีครั้งที่ 1 พ.ศ.2565 ที่เปิดสมัยประชุมมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีระยะเวลาสมัยประชุม 120 วัน นับตั้งแต่วันที่22 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยใน 120 วัน จะเป็นการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายและญัตติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอยู่หลายวาระด้วยกัน โดยเฉพาะ 3 วาระที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือ

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทางสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดการประชุมพิจารณาในวาระที่1 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2565 โดยร่าง พ.ร.บ.นี้ มีวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 แแบ่งเป็น

  • รายจ่ายงบกลาง 590,470 ล้านบาท
  • รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,090,329 ล้านบาท
  • รายจ่ายบูรณาการ 218,477 ล้านบาท
  • รายจ่ายบุคลากร 772,119 ล้านบาท
  • รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 206,985 ล้านบาท
  • รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 306,618 ล้านบาท

ทั้งนี้หากพิจารณาการจัดงบประมาณของรัฐบาลตามร่าง พ.ร.บ.งบปี 2566 นี้ เห็นได้ว่างบประมาณจะถูกนำไปใช้ในส่วนหลักๆ คล้ายปีที่ผ่านมา เช่น นำไปจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างภาครัฐ , นำไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆของแต่ละกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐ , กันไว้เป็นงบกลาง, ชำระหนี้ภาครัฐ  เป็นต้น

ส่วนแนวทางจากการประชุมพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย นี้ หากเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมให้ผ่านหรือเห็นชอบ ก็จะเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 64 คน ที่มาจากสัดส่วนคณะรัฐมนตรีเสนอชื่อ 16 คน และสัดส่วนพรรคการเมือง 48 คน หรือว่าง่ายๆ คือขั้นตอนการพิจารณาจะคงหรือตัดงบส่วนใดบ้าง จากนั้นจะเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ของการประชุมไปจนถึงขั้นตอนร่าง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้าม หากร่าง พ.ร.บ.งบปี2566  ไม่ผ่าน หรือ ถูกตีตก จากเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางรองนายรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ให้ความเห็นไว้ว่า ในทางปฏิบัติสามารถนำ พ.ร.บ งบปี 2565 มาใช้แทนไปพลางก่อนได้ ซึ่งโดยปกติสำนักงบประมาณจะให้ใช้เป็นเปอร์เซ็นต์ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณนั้น แต่ก็บริหารไปได้จนกว่าจะมีงบประมาณใหม่ เพียงแต่ว่าโครงการใหม่ ๆ จะเกิดไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในบัญชี อย่างไรก็ตามหากยึดตามประเพณีเมื่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกตีตก นายกรัฐมนตรีมีสองแนวทางคือยุบสภา หรือลาออก หากยุบสภา กว่าจะมีเลือกตั้งคงอีกนาน เนื่องจากร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แล้วยังต้องตกไปตามสภาที่ถูกยุบด้วย

ประชุมวาระ 2-3 ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ 9-10 มิ.ย.นี้

ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ หรือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีสาระสำคัญอยู่ที่ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน มาจาก 400 เขตเลือกตั้ง ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 100 คน มีวิธีคำนวณจากการนำคะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศหารด้วย100 แล้วนำมาหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งการใช้เบอร์สมัครรับเลือกตั้งแบบต่างเขตต่างเบอร์

ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ ได้ยื่นร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ต่อประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย แล้ว และประธานรัฐสภาได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า สามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาต่อในวาระ 2 และ วาระ 3 ได้ระหว่างวันที่ 9 -10 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นห้วงเวลาห่างจากการประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี2566 หนึ่งสัปดาห์ ดังนั้นหากไม่มีเหตการณ์เปลี่ยนแปลงใดก่อนถึงวันประชุม ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ มีแนวโน้มจะผ่านวาระ 2 และ 3 ไปได้แบบไม่ยากนัก เนื่องจากที่มาของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มาจากความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่อยู่แล้ว

ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายไม่ไว้วางใจ

จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากการยื่นญัตติของ ส.ส.ฝ่ายค้าน เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งการประชุมเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว ทางฝ่ายค้านจะยื่นขอเปิดประชุมในสมัยประชุมนี้แน่นอน เนื่องจากมีการแถลงไว้ก่อนหน้านี้บ่อยครั้ง แต่จะเป็นช่วงเวลาใดและยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนไหนบ้าง ยังไม่มีความชัดเจนจากฝ่ายค้านมากนัก แต่คาดว่าจะมีขึ้นหลังร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับผ่านวาระ 2 และ 3 ของที่ประชุมรัฐสภาไปแล้ว

อย่างไรก็ตามผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา151 ที่จะเกิดขึ้น หากรัฐมนตรีรายใดถูกลงมติไม่ไว้วางใจสำเร็จ ซึ่งหมายถึงไม่ได้รับเสียงไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) โดยรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีสถานภาพเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่ง และเฉพาะตัวนายกฯรัฐมนตรี หากถูกลงมติไม่ไว้วางใจได้สำเร็จ นอกจากความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) แล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167

แต่ในทางกลับกัน หากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนใดที่ถูกอภิปราย ได้รับมติไว้วางใจ ก็สามารถอยู่ยาวไปจนครบวาระได้เช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส