ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ สำเร็จเกินเป้า ไทยย้ำจุดยืนเป็นกลาง ผลักดันฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด ชวนลงทุน – ร่วมประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพปลายปีนี้
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางคนบางฝ่าย ทั้งก่อนและระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ระหว่างวันที่12-13 พ.ค.2565 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าไทยอาจพลาดท่าเสียทีไปร่วมลงนามหรือแสดงท่าทีเลือกข้างขั้วอำนาจของโลกขั้วใดขั้วหนึ่ง จนอาจนำมาซึ่งการชักศึกเข้าบ้านได้ ทว่าเมื่อผลของการประชุมดังกล่าวออกมา ปรากฏชัด ไม่มีข้อผิดพลาดใด ไม่เป็นไปตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ในทางตรงข้ามกลับเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูประเทศจากโควิด
*ไทยย้ำจุดยืนเป็นกลาง เสนอพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ผลักดันฟื้นฟูภูมิภาค *
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ รัฐบาลมีการเตรียมพร้อมก่อนไป ทั้งหัวข้อที่จะนำเสนอในที่ประชุมและการแสดงท่าทีต่างๆที่เน้นความสร้างสรรค์ ไม่เลือกข้าง ไม่ขัดแย้งกับใคร เห็นได้จากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โพสเผยแพร่หัวข้อที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันความร่วมมือในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนหลังได้รับผลกระทบจากโควิด การขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 การเชิญชวนภาคเอกชนของสหรัฐฯเข้ามาลงทุนในไทย การเน้นย้ำต่อผู้นำประเทศชั้นนำของโลกว่าไทยได้เข้าสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเดินทางมาท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจและอื่นๆ ในแบบ Next Normal เป็นต้น
เมื่อถึงเวลาของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ วันที่13 พฤษภาคม 2565 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ พลเอกประยุทธ์ ได้นำเสนอสิ่งที่เตรียมมาต่อที่ประชุมได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการเสนอความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ควรเป็นแบบมองไปข้างหน้าและเดินหน้าไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน มีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง คือ ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง และภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น ไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวยินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้ด้วย
ขณะที่การเชิญชวน ให้ภาคเอกชนของสหรัฐฯ มาลงทุนในไทย เกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ไม่ถึง1วัน นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้ร่วมวงพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ แล้วมีการเชิญชวนให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจดิจิทัล ในพื้นที่EEC พร้อมเน้นย้ำความเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาค
ผลสรุปของการประชุมกับแนวทางดำเนินการร่วมอาเซียน-สหรัฐฯ 8 ข้อ
การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม หรือ Joint Vision Statement แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน เน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน มุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน มีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่าง ๆ
2. การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็งและยั่งยืน
3. การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล
4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
5. การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค
6. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
7. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
8. ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีของไทยร่วมกับผู้นำอาเซียนยืนหยัดในจุดยืนของอาเซียนเรื่อง ASEAN Centrality อันมีอาเซียนเป็นแกนกลาง เป็นผู้ขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ และผู้นำอาเซียนแสดงท่าทีชัดเจน ไม่คล้อยตามในบางประเด็นที่สหรัฐฯ พยายามโน้มน้าว อาทิ ประเด็นเมียนมา ที่อาเซียนให้ยึดหลักฉันทามติ 5 ข้อตามเดิมตามที่ประเทศสมาชิกตกลงกันไว้ และไม่ได้เปิดช่องให้สหรัฐฯ แทรกแซง เช่นเดียวกับประเด็น ยูเครน-รัสเซีย ที่อาเซียนยังยึดมั่นในหลักการไม่รุกราน เคารพบูรณภาพแห่งดินแดน และไม่ได้ประนาม หรือ คว่ำบาตรชาติใด รวมทั้งไม่ทำอะไรที่เกินเลย จนก่อความขัดแย้งกับมหาอำนาจใกล้บ้านอย่างจีน นอกจากนี้อาเซียนมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ในเรื่อง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การฟื้นฟูหลังโควิด-19 ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงภาคประชาชนอย่างเต็มที่
ผลจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ รวมถึงบทบาทและท่าทีรัฐบาลไทยที่นำเสนอออกไปในระหว่างการประชุม พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ไม่มีส่วนไหนที่ไปลงนามร่วมในข้อตกลงใดจนกลายเป็นการเลือกข้างขั้วอำนาจขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่มีการแสดงออกที่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดตั้งนาโต2 อันเป็นการทานอำนาจจีนในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไม่มีท่าทีต่อการสนับสนุนหรือคัดค้านการคว่ำบาตรรัสเซีย จนอาจเป็นการชักศึกเข้าบ้านตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ก่อนหน้านี้แต่อย่างใด กลับกันข้อเสนอ บทบาทและท่าทีของรัฐบาลไทยที่แสดงออกระหว่างการประชุมดังกล่าว จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยและชาวอาเซียนมากกว่า
ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เพียงไม่กี่วัน เพจเฟซบุ๊กสถานฑูตรัสเซียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ได้เผยแพร่บทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นการสนทนาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีในเวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และระดับพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์รัสเซีย-ไทย ที่มีมาถึง 125 ปีแล้ว
จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ทางการรัสเซีย ไม่ได้มีปัญหากับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยแต่อย่างใด และยังมุ่งหวังที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับทางการจีนก็ไม่ได้ส่งสัญญาณไม่พอใจกับการเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน-สหรัฐ ของนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด ดังนั้นจึงถือว่ารัฐบาลไทย ประสบความสำเร็จทั้งจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ และประสบความสำเร็จจากการวางตัวได้อย่างเหมาะสมเป็นกลางระหว่างสองขั้วอำนาจโลก