“บชน. ยืนยัน ยังไม่บังคับใช้กฎหมายจัดที่นั่งนิรภัยให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ระหว่างนี้ถ้าพบจะประชาสัมพันธ์ตักเตือน ยืนยันไม่มีด่านจับผิดส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า หากเป็นรถโดยสาร รถแท็กซี่ รถประจำทาง หรือรถโรงเรียน กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ไปด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ตามข้อกำหนดแล้ว เป็นหน้าที่ของ ‘กรมการขนส่งทางบก’ ที่จะต้องออกประกาศว่า รถชนิดใดที่จะถูกบังคับใช้ตามกฎหมายนี้”
พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า พรบ.จราจรทางบก ฉบับล่าสุด ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน หรือในวันที่ 5 กันยายนนี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีใจความสำคัญ คือ ป้องกันไม่ให้เด็กได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุทางถนนโดยการจัดที่นั่งที่เหมาะสมให้ โดยระบุใจความสำคัญในการป้องกันไว้ 3 รูปแบบ คือ
ผู้ปกครองต้องจัด ‘ที่นั่งนิรภัย’ หรือ ‘คาร์ซีท’ สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบหรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร “หรือ” ต้องจัดหาที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก อายุไม่เกิน 6 ขวบหรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร “หรือ” หาวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่โดยสารบนรถหากตีความข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่ได้บังคับตายตัวว่า จะต้องใช้เพียง ‘ที่นั่งนิรภัย’ สำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท เพียงอย่างเดียว แต่ยังระบุว่า “หรือ จัดหาที่นั่งสำหรับเด็ก” เช่น การจัดให้เด็กนั่งและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ หรืออาจใช้วิธีการป้องกันอื่นๆ เช่น การนำเด็กมานั่งตักและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งลักษณะและวิธีการป้องกันดังกล่าวต้องรอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่างข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าการติดตั้งหรือจัดหาที่นั่งแต่ละแบบนั้น จะมีรูปแบบอย่างไร แบบไหนที่สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะใช้เวลาในช่วงระหว่างที่ก่อนกฎหมายบังคับใช้ 120 วัน ร่างข้อกำหนดดังกล่าวให้เสร็จสิ้น และหากยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อยก็ยังมีเวลาอีก 90 วันที่สามารถร่างข้อกฎหมายให้เสร็จสิ้นได้ ซึ่งคาดว่าหากใช้เวลาเต็มที่ กฎหมายดังกล่าวก็จะบังคับใช้ หรือมีการ ‘จับปรับ’ ได้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2565 นี้
โดยในช่วงแรกนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล จะเน้นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองทราบ และหาวิธีการป้องกันตามข้อกฎหมายดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเบื้องต้น แต่จะไม่ได้เป็นรูปแบบของการตั้งด่านตรวจหรือจับปรับในกรณีดังกล่าวโดยเฉพาะ แต่หากเป็นเหตุซึ่งหน้า เช่น มีการตั้งด่านตรวจในกรณีอื่นๆ แล้วพบว่าผู้ปกครองไม่ได้จัดที่นั่งที่ปลอดภัยให้ ก็จะทำการตักเตือนประชาสัมพันธ์ให้แก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า หากเป็นรถโดยสาร รถแท็กซี่ รถประจำทาง หรือรถโรงเรียน กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ไปด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ตามข้อกำหนดแล้ว เป็นหน้าที่ของ ‘กรมการขนส่งทางบก’ ที่จะต้องออกประกาศว่า รถชนิดใดที่จะถูกบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ และรถประเภทใดที่ได้รับข้อยกเว้น ซึ่งกรอบเวลาจะอยู่ในห้วงเดียวกันกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบวกเพิ่มอีก 90 วัน หากไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อยหลังกฎหมายบังคับใช้