Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

643 views

ผลลัพธ์ จากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกและทิศทางในอนาคต


บทวิเคราะห์ :

มาตรการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง งดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม ปี2563 ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมไทยได้ตระหนักรู้จากสื่อและจากการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนถึงการให้ความร่วมมือของประชาชนทั่วไปและความร่วมมือของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ฯ เป็นอย่างดี

ทว่ายังมีข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับมาตรการนี้เกิดขึ้นอยู่ ดังนั้นไปดูที่มา ผลลัพธ์ และทิศทางในอนาคตของมาตรการนี้กัน

กระแส งดใช้พลาสติกทั่วโลกและที่มาของมาตรการในไทย

มาตรการงดใช้พลาสติก เป็นกระแสที่ส่งแรงกระเพื่อมในสังคมโลกมามากกว่าสิบปีแล้ว เนื่องจากชาวโลกเห็นถึงผลกระทบจากการใช้ถุงพลาสติกที่มากเกินไป กลายเป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพ ธรรมชาติไม่ว่าพื้นที่ป่าไม้ ทะเล และบรรดาสัตว์ต่างๆทั้งในน้ำและบนบก ต่างได้รับผลกระทบจากพลาสติก รวมทั้งขยะจากพลาสติกยังเป็นส่วนทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน หลายต่อหลายประเทศจึงมีมาตรการและตั้งเป้าหมายต่างๆออกมา เพื่อลดการใช้ไปจนถึงการเป็นประเทศปลอดการใช้ถุงพลาสติก กล่องโฟม หรือภาชนะต่างๆที่ทำจากพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพ ขณะที่ไทยเราก็มีไทม์ไลน์ของมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกโดยสรุปดังนี้

– ปี 2561 เริ่มมีแนวคิดที่จะลดละเลิกถุงพลาสติกตามหน่วยงานราชการและเอกชน เช่น ผู้ขายสินค้าต่างๆ อันเป็นรูปแบบการรณรงค์โดยสมัครใจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในประเทศไทยหลายแห่งเริ่มปรากฏให้เห็นถึงผลกระทบจากพลาสติกที่กลายเป็นขยะตกค้างและส่งผลต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ โดยเฉพาะพื้นที่ทะเล จนต้องมีประกาศปิดสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติบางแห่ง

ปี 2562 เริ่มมาตรการลดถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเชิงรุก อย่าง การห้ามให้พลาสติกหุ้มฝาเครื่องดื่ม มาตรการการห้ามใช้ถุงพลาสติกในสถานศึกษา การรณรงค์ไม่รับถุงพลาสติก

– 1 ม.ค. 2563 เริ่มใช้มาตรการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง งดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ มาตรการนี้เป็นไปในลักษณะการขอความร่วมมือ มีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หลายแห่งเข้าร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผลการใช้มาตรการลดใช้ถุงพลาสติก ฯ

กว่า 2 ปีที่ผ่านมากับการใช้มาตรการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง งดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หลายต่อหลายคนได้เห็นภาพหรือได้สัมผัสด้วยตัวเองจากการใช้ชีวิตประจำวันถึงการตื่นตัวและการให้ความร่วมมือจากประชาชนและร้านค้า อย่าง การได้เห็นผู้คนหันมาใช้ถุงผ้านำไปใส่ของเองเมื่อไปซื้อของตามร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งในตลาดสด ก็มีผู้คนนำถุงผ้าไปใช้แทนถุงพลาสติกมากขึ้น ขณะที่ร้านค้าก็ลดการแจกถุงพลาสติกสำหรับใส่สินค้าได้มากขึ้น ด้วยวิธีการที่หลากหลาย อย่าง ร้านสะดวกซื้อไม่แจกถุงพลาสติกให้ผู้ซื้อสินค้าหากมูลค่าสินค้าที่ซื้อรวมไม่ถึง 150 บาท แต่หากลูกค้ายังต้องการถุงพลาสติกก็ต้องซื้อถุงเอง ราคาราวใบละ 2-3 บาท โดยมิได้บังคับซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าบางแห่งไม่แจกถุงพลาสติกทุกกรณี ลูกค้าต้องนำถุงผ้าส่วนตัวไปใช้เองหรือใช้กล่องกระดาษที่ทางซุปเปอร์มาร์เก็ตจัดไว้ให้ใช้แทนถุงพลาสติก เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้พอตีความได้ว่า เป็นผลลัพธ์ที่ได้กลับมาในทางที่ดี เพราะประชาชนและผู้ประกอบการมีจิตสำนึกร่วมรับผิดชอบและใส่ใจร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขณะที่ผลลัพธ์ในเชิงตัวเลข มีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ตั้งแต่ดำเนินมาตรการมาจนถึงขณะนี้ ลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วไปได้กว่า 341 ล้านใบ ถือว่าลดลงได้อย่างน่าพอใจไม่น้อย

ผลกระทบและข้อสงสัย จากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติก

ทุกนโยบายทุกมาตรการ ล้วนก่อให้เกิดผลประโยชน์ ผลกระทบและข้อสงสัยต่างๆ ตามมา มาตรการลดใช้ถุงพลาสติกฯ ก็เช่นกัน ในแง่ของผลกระทบ อย่างเช่น ในระยะแรกประชาชนยังไม่รับรู้ถึงแนวทางปฏิบัติ พอไปถึงแหล่งซื้อสินค้ากลับไม่มีถุงพลาสติกให้ได้ใช้ฟรีเหมือนเดิม นำมาซึ่งความไม่สะดวกพอควร แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวได้ ปัญหานี้จึงคลี่คลาย มาตรการก็เดินหน้าราบรื่นขึ้น  ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักๆอีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายถุงพลาสติก ส่วนนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเมื่อมีความต้องการใช้น้อยลง การผลิตและจำหน่ายก็ย่อมน้อยลงตาม ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในส่วนนี้

ขณะที่ข้อสงสัยต่างๆ ก็มีมาตั้งแต่ก่อนจะเริ่มใช้มาตรการจนถึงขณะนี้ อย่างคำถามที่ว่า มาตรการลดใช้ถุงพลาสติกจะไปเอื้อนายทุนค้าปลีกหรือไม่ เพราะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ฯ น่าจะมีผลพลอยได้สามารถลดต้นทุนการค้าจากการลดแจกฟรีถุงพลาสติก หรือได้กำไรจากการขายถุงพลาสติกให้แก่ลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้หรือไม่  ข้อสงสัยเหล่านี้ อยากให้ไปดูที่เจตนาและเป้าหมายของนโยบายและมาตรการ ว่า ต้องการปลูกค่านิยมให้ประชาชนนำถุงมาใช้เองแทนถุงพลาสติก มากกว่าหวังผลทางอื่นหรือไม่ และหลายประเทศ อย่าง ประเทศในยุโรป  ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเพื่อนบ้านเรากัมพูชา ก็มีมาตรการลักษณะคล้ายกันออกมานานแล้ว แถมเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกสำหรับผู้ไม่มีถุงส่วนตัวแต่จำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกในอัตราที่แพงกว่าบ้านเราเสียอีก

ทิศทางและเป้าหมาย การลดใช้พลาสติกในอนาคต

ไทยเรามี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกก็เป็นไปตามRoadmap นี้ ซึ่งเป้าหมายในRoadmap กำหนดให้มีการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด ภายในปี 2565 นี้ ได้แก่

1. ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน

2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร

3. แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน

4. หลอดพลาสติก

ทั้งนี้ จะมีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนพลาสติก 4 ชนิดดังกล่าว แต่ก็ยังจะมีการส่งเสริมให้มีการนำพลาสติกบางชนิดกลับมารีไซเคิลใช้ประโยชน์ใหม่ด้วย

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่เพิ่งผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก คาดว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ประมาณ 10% ต่อปี หรือ 68,978 ตัน ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบันจำนวน 689,785 ตัน

การขยายเวลามาตรการภาษีดังกล่าว ได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่กำหนดและได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์ จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มาหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มอีก 25% สำหรับรายจ่าย ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2567  เชื่อว่าการขยายเวลามาตรการทางภาษีนี้ จะเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการลดใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพได้อย่างมากด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส