วันที่ 5 เมษายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด โดยการจ้างเอกชนเหมาให้บริการตามระยะทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากกระทรวงคมนาคมรายงานคาดว่าจะสามารถให้บริการประชาชนได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ สืบเนื่องจากในระหว่างที่ ขสมก. รอการดำเนินการแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับใหม่ ตามขั้นตอน ขสมก. จึงมีแผนการดำเนินการระยะสั้น ในการจ้างเหมาเอกชนวิ่งให้บริการรถโดยสารพลังงานสะอาดตามระยะทาง โดยมีเป้าหมายหลักในการทดแทนรถเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม
อีกทั้ง การวิ่งให้บริการรถโดยสารพลังงานสะอาดผ่านย่านใจกลางเมืองที่สำคัญ เพื่อลดมลภาวะฝุ่น PM 2.5 นอกจากนี้ จะวิ่งให้บริการเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอีกด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ ยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด (KPI) 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ประกอบการขนส่งที่มีบริการที่ดีสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น รวมทั้ง จะมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่มีความมั่นคงทางการเงิน สามารถจัดหารถใหม่ อู่จอดที่พักรถ มีระบบการซ่อมบำรุงรักษาที่มีมาตรฐาน และการใช้ระบบ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ และกรณีที่เอกชนรายใดได้ใบอนุญาตหลายเส้นทางหรือเอกชนอาจจะรวมกลุ่มกันเพื่อปรับระบบการเดินรถ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ AI วิเคราะห์การบริการให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารได้
ทั้งนี้ รถใหม่จะต้องมี GPS มีกล้อง CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ว่ามีผู้โดยสารใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่น ช่วงไหนคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ แตกต่างจากเดิมที่ใช้ระบบ Manual
“รัฐบาลมีนโยบายสำคัญ คือ ประชาชนต้องได้รับบริการที่สะดวก เส้นทางมีโครงข่ายเชื่อมต่อกัน ราคาค่าโดยสารถูก เช่น มีตั๋วเหมาราคาเดียวต่อวัน ขึ้นรถได้ไม่จำกัดเที่ยว ไม่จำกัดสาย โดยการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ครั้งนี้จะทำให้รถร้อนที่มีอยู่ในระบบทยอยลดลง ซึ่งเป็นรถที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเลือกใช้บริการมากกว่ารถปรับอากาศ รัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกประเภท เตรียมเสนอให้ขยายบัตรคนจนมาใช้กับรถร่วมเอกชนได้ ซึ่งจะเป็นการดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ตรงจุดมากกว่าการที่รัฐจะอุดหนุนงบประมาณ” นายธนกรกล่าว