ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นสุขภาพเรื่อง 2 วิธีรักษาโรคความดันโลหิตต่ำด้วยสมุนไพร วิธีที่ 1 พริกไทยแห้ง 15 กรัม และผงดีปลีเปล่า 15 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ลิตร พอเดือด ทิ้งไว้ให้อุ่นจึงนำน้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว 2 เวลาเช้า-เย็นก่อนอาหาร
วิธีที่ 2 ประกอบด้วย ดอกคำฝอย ฝาง ว่านสบู่เลือด ผักเป็ดแดง เถาคันแดง กระเพราแดง เทียนแดง โกฐหัวบัว รกมะดัน ใบมะขามอ่อน เมื่อได้สมุนไพรครบทั้งหมดแล้ว ให้นำสมุนไพรทั้งหมดมาต้มหรือบดรวมกันเพื่อรับประทาน โดยการรับประทานนั้นสามารถเลือกได้ 2 วิธี คือ บดเป็นผงแล้วนำมาอัดใส่แคปซูล รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ครั้งละ 3-4 แคปซูล
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน โดยได้ชี้แจงว่า เนื่องจาก วิธีที่ 1 มีข้อมูลทางสมุนไพรที่เกี่ยวกับการเพิ่มความดันโลหิต สูตรใกล้เคียงกับ ยาตรีกฏก ที่มีส่วนประกอบคือ ดีปลี พริกไทย ขิง มีสรรพคุณกระตุ้นการทำงานของเลือดลมให้ไหลเวียนได้ดี และเป็นตำรับยาพื้นฐานในการบรรเทาอาการที่มักจะเกิดในช่วงฤดูฝนตามองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ส่วนวิธีที่ 2 ข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่สามารถวิเคราะห์ตำรับยาได้ การใช้สมุนไพรหลายชนิด หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจไม่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรค ตับ ไต หรือกำลังใช้ยาแผนปัจจุบันบางชนิด เช่น ยาวาร์ฟาริน เป็นประจำ เนื่องจากอาจเกิดภาวะยาตีกัน (อันตรกิริยาระหว่างยา) เป็นเป็นอันตรายได้
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการใช้ตำรับยาแผนไทยในการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์แผนไทยและเภสัชกร ก่อนการใช้ยาทุกครั้งและเนื่องจากความดันโลหิต เป็นสัญญาณชีพที่สำคัญ หากมีอาการความดันเลือดสูง หรือ ต่ำบ่อยๆ หรือเป็นระยะเวลานาน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : วิธีที่ 1 มีข้อมูลทางสมุนไพรที่เกี่ยวกับการเพิ่มความดันโลหิต มีสรรพคุณกระตุ้นการทำงานของเลือดลมให้ไหลเวียนได้ดี และเป็นตำรับยาพื้นฐานในการบรรเทาอาการของแพทย์แผนไทย ส่วนวิธีที่ 2 ข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่สามารถวิเคราะห์ตำรับยาได้