นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่มีการเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยไปทำความตกลงกับสหรัฐ ในการจัดทำเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐ และกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่า
1. เอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ของสหรัฐ จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว (unilaterally) เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐ กับแต่ละภูมิภาค ประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ ไม่มีหน่วยงานใดของไทยลงนามรับรองหรือรับรู้เอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐ ในการดำเนินนโยบายของสหรัฐ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแต่อย่างใด
2. เอกสารที่เป็นข่าวการจัดทำร่วมกันระหว่างไทยและสหรัฐ นั้น ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ (Joint Vision Statement 2020 for the Thai – U.S. Defense Alliance) ซึ่ง นรม.ในฐานะ รมว.กห.ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 ร่วมกับนาย Mark Esper รมว.กห. สหรัฐ ในขณะนั้น เป็นเพียงการแสดงวิสัยทัศน์ร่วมย้ำความเป็นพันธมิตรและเสริมสร้างความสัมพันธ์ เป็นแนวทางความร่วมมือระหว่าง กห.ทั้งสองฝ่าย ไม่ผูกมัดใด ๆ เพราะไม่ได้เป็นสัญญาหรือความตกลงในรูปแบบใดทั้งสิ้น
3. การออกเสียงที่สหประชาชาติ กรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ของไทยจะอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเอกราชและอธิปไตย มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความเป็นกลาง การรักษามิตรภาพ การเป็นมิตรกับทุกประเทศและผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย อยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎกติกาสากล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของโลก ไทยเคารพกฎกติการะหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศเท่าเทียมกัน
4. รัฐบาลไทยตระหนักดีว่ามีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของชาติ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยอยู่บนพื้นฐานของการยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะประเทศเอกราช โดยร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
ไทยมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทุกประเทศที่มีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนของประเทศเหล่านั้น ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม และการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้ง
5. ประเทศต่าง ๆ กำลังประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สำหรับไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันต่อ GDP สูงที่สุดประเทศหนึ่ง ได้รับผลกระทบด้านพลังงาน ราคาสินค้า และเงินเฟ้อ รัฐบาลได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาผลกระทบของความขัดแย้งอย่างเต็มที่ จะสามารถผ่านวิกฤตินี้ได้ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหารวมถึงการรักษามิตรภาพกับทุกประเทศและการสื่อสารให้ดำเนินอยู่ตลอดเวลา
6. การดำเนินนโยบายต่างประเทศต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือ และความมั่นใจของนานาประเทศในความมั่นคงและความมีเอกภาพของนโยบายของไทย ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เพราะเรื่องการต่างประเทศ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นเอกภาพของนโยบายของเราได้ ก็จะเป็นปัญหาของประเทศเราเอง