เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อโซเซียลได้เผยแพร่ข่าวประกาศ เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท (รอการอนุมัติตัวเลข) นั้นว่า ข่าวดังกล่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง
เนื่องจากข้อเท็จจริงในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โดยปกติข้อเท็จจริงในการขึ้นค่าจ้างนั้น มีระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา ถึงความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์สากลของไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้กำหนด ดำเนินการด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุมีผลสามารถตอบสังคมได้ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา นักลงทุนหลายประเทศจึงเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า
ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเคยให้สัมภาษณ์และตอบกระทู้สดในสภาไปแล้วว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็นต์ บวกกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดนั้น ๆ ถ้าจะขึ้นทั้ง 40% 30% เชื่อว่าไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และค่าแรงคนงานของประเทศไทยส่วนมากคนไทยมีทักษะความสามารถได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนมากกว่า 80% เป็นส่วนของคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกร ถ้าเราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าเป็น 400 กว่าเกือบ 40% เชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะบริษัทต่างๆ รักษาการจ้างงานมา 2 ปี ขาดทุนจ่ายเงินให้ค่าจ้างแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะตัดทิ้ง 40% มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาตามภาวะเงินเฟ้อกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดด้วย ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น ส่วนข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อโซเซียลนั้นมาจากกลุ่มเรียกร้องค่าแรง ซึ่งเป็นข่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง ซึ่งเคยเรียกกลุ่มที่เรียกร้องค่าแรงมาหารือแล้วและได้อธิบายเหตุผลไปทั้งหมดแล้วว่า นายจ้างเคยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1,000,000 บาท ขาดทุนมา 2 ปี พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับต้องมาจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 – 1.4 ล้านบาท
นายสุชาติ ยังกล่าวต่อว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง แต่รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่โครงการ ม33เรารักกัน คนละ 6,000 บาท โครงการคนละครึ่ง เยียวยากรณีถูกหยุดงานจากมาตรการของรัฐเป็นเวลา 3 เดือน คนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 15,000 บาท ลดเงินสมทบประกันสังคมค่างวด 3 เดือน 4 ครั้ง เยียวยาอาชีพอิสระ คนกลางคืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วและกระทรวงแรงงานไม่เคยนิ่งนอนใจ รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้เป็นห่วงและให้ความสำคัญมาตลอด จึงนำนโยบายช่วยเหลือเยียวยาทางอ้อมทุกเรื่องให้กับพี่น้องประชาชน ผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยเหลือเยียวยาทุกมาตรการทุกอย่าง เพื่อชดเชยการที่ไม่ได้ขึ้นค่าแรงให้สถานการณ์ปี 2563 และ 2564 ซึ่งช่วงนั้นโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก วัคซีนไม่มี
อย่าว่าแต่การขึ้นค่าแรงเลยโรงงานทุกโรงงานต้องแก้ปัญหาเรื่องระบาดเอาวัคซีนฉีดให้เกิดโครงการแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ เพื่อส่งออกใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแช่แข็ง และอุปกรณ์การแพทย์ ได้เติบโต ซึ่งพนักงานได้โบนัส 7-8 เท่า ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งต่างๆ ที่เราได้ทำเพื่อพี่น้องประชาชน พี่น้องผู้ใช้แรงงาน