Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

312 views

“วราวุธ” ยืนยันจัดการน้ำมันรั่วได้มาตรฐาน พร้อมเร่งสำรวจสิ่งตกค้างในทะเล


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุน้ำมันรั่วในพื้นที่ จ.ระยอง โดยเบื้องต้นพบว่า การรั่วไหลของน้ำมันไม่ได้เกิดเพียงจุดเดียว แต่เกิดจากรอยต่อระหว่างท่ออ่อนที่เชื่อมกับทุ่นสำหรับจ่ายน้ำมันให้เรือกับท่อแข็งที่วางราบกับพื้นทะเล ซึ่งท่ออ่อนดังกล่าวมีความลึกประมาณ 30 เมตร ซึ่งพบการรั่วไหลจากท่อดังกล่าว

โดยมีการสั่งการให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลขึ้นมาอีก และได้มีการประสานกับกระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ได้ประสานกับตำรวจน้ำติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากภายหลังน้ำมันรั่วครั้งแรก ได้มีหนังสือสั่งให้บริษัทระงับการทำงานแต่ยังพบการฝ่าฝืนจนเกิดการรั่วครั้งที่สองและสามตามมา

การจัดการคราบน้ำมันในทะเล

นายวราวุธ เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วการจัดการคราบน้ำมันในทะเลจะใช้บูม ในการตีโอบน้ำมันโดยรอบเพื่อให้น้ำมันรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน จากนั้นจะใช้สาร Dispersion ในอัตราส่วน 1 : 10 หรือ 1 : 20 เช่นน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร จะใช้สาร Dispersion เพียง 5,000 ลิตรเท่านั้น แต่เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดการรั่วไหลในช่วงเวลากลางคืน และมีลักษณะกระจายตัวไม่ได้รวมเป็นกลุ่มก้อน ทำให้ยากต่อการประเมินทิศทาง จึงต้องใช้สาร Dispersion มากกว่าปริมาณปกติ

สำหรับ Dispersion ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นระดับ 3 ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำมันที่อยู่ใต้ท้องทะเลจะไปละลายและรวมกับน้ำ (ยกตัวอย่าง การใช้น้ำยาล้างจานเมื่อล้างแล้วทำให้น้ำมันนั้นหายไป) และค่อย ๆ จมลงสู่ผิวน้ำ ใต้ทะเล จากนั้นจะใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 2-3 เดือน จูลีนทรีที่อยู่ในทะเลจะกัดกินก้อนน้ำมันที่แตกตัวลงมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลน้อยกว่าปี 2556 ที่ผ่านมา แต่สำหรับในสัตว์น้ำอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบว่าจะมีผลกระทบกับห่วงโซ่อาหารหรือไม่

การจัดการคราบน้ำมันชายฝั่ง

สำหรับน้ำมันพัดขึ้นชายฝั่งทะเล ได้กำจัดโดยใช้แผ่นสกิมเมอร์ รวมทั้งเครื่องดูด ซึ่งจะดูดทั้งทราย และน้ำทะเล ที่มีน้ำมันตกค้างอยู่ เมื่อมีการดูดน้ำมันออกไปแล้วแต่ยังคงมีน้ำมันหลงเหลืออยู่จะนำกระดาษซับมันมาซับน้ำมันออกให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจจะมีน้ำมันบางส่วนซึมลงไปในพื้นทรายบาง ซึ่งก็ได้มีการระดมพล ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของบริษัท มาตักทรายที่ปนเปื้อนออกไปกำจัดตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับการรั่วของน้ำมันในครั้งที่ 2-3 นั้น ยังไม่มีการรั่วมาถึงชายฝั่ง เนื่องจากปริมาณน้ำมันอยู่ที่ 5,000 ลิตร ซึ่งได้มีการบริหารจัดการในน้ำมันอยู่กลางทะเลไม่ให้เข้าฝั่งเด็ดขาด แต่ต้องดูทั้งกระแสน้ำและกระแสลมเพื่อที่จะนำ Boom มากั้นไว้ และเตรียมกระดาษซับน้ำมันไปเตรียมไว้

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ต้องเฝ้าระวังในระยะ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นสภาพท้องทะเลยังปกติอยู่ แต่ปริมาณโลหะหนัก ปริมาณคาร์บอนที่ลอยอยู่ในน้ำทะเล บริเวณ ที่เกิดเหตุนั้นยังสูงกว่าเกณฑ์ที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด ซึ่งยังไม่ปลอดภัยกับประชาชน อาจเกิดผลกระทบกับสัตว์น้ำ แต่จะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหนจะดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง ขณะที่ความปลอดภัยของอาหารทะเล ขณะนี้ทางจังหวัดระยองได้ขอความร่วมมือชาวประมงให้หยุดจับสัตว์ทะเลก่อน ซึ่งทางบริษัทจะมีการชดเชยรายได้ให้กับชาวประมงที่ขาดรายได้เต็มจำนวน

การดำเนินการทางกฎหมาย

เบื้องต้นทางจังหวัดระยอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินคดีทั่งทางแพ่งและอาญากับทางบริษัทในทุกข้อหา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิด และทำการโดยประมาท ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการฟ้องในเรื่องความสมบูรณ์ของปะการัง ท้องทะเล อย่างไรก็ตามทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเบื้องต้นทางบริษัทยินยอมและยินดีรับผิดชอบทุกกรณี

ถอดบทเรียนน้ำมันรั่ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการเน้นย้ำมาตรการสำหรับการเผชิญเหตุน้ำมันรั่วที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยได้กำหนดมาตรการในการป้องกัน และการจัดการน้ำมันรั่วที่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจน เช่น การวางบูมจะมีวิธีการวางอย่างไร มีระยะกั้นกี่เมตร รวมถึงเน้นย้ำผู้ประกอบการที่ใช้บริการทุ่นน้ำมันให้มีมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งทั้งหมดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจะเข้าไปร่วมสนับสนุนในมาตรการต่าง ๆ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ประกอบการน้ำมันโดยตรง เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส