Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

354 views

เร่งกำจัดคราบน้ำมันรั่ว!! ก่อนกระทบชายหาดระยอง พร้อมใช้ OilMap ติดตามทิศทางลมและคลื่นทะเลอย่างใกล้ชิด


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล 400,000 ลิตร จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง หลังเกิดเหตุทีมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ทำการควบคุมสถานการณ์ตามขั้นตอนการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและได้หยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดแล้วตามขั้นตอนความปลอดภัย 

เบื้องต้นสามารถควบคุมและหยุดการรั่วไหลได้ตั้งแต่เวลา 00.10 น.ของวันนี้ (26 ม.ค.65) ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ กองทัพเรือ จังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมน้ำมันจากการรั่วไหลและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้ำมันดิบไหลลงทะเลประมาณ 400,000 ลิตร 

จากการใช้แบบจำลอง OilMap ทำนายการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเลแสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่มีการควบคุมและป้องกัน อาจทำให้กลุ่มน้ำมันดังกล่าวเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดแม่รำพึงถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในวันที่ 28 มกราคม เวลาประมาณ 17.00 น. ประมาณ 180,000 ลิตรได้ ดังนั้น บริษัทฯ ควรดำเนินการวางแผนจัดการคราบน้ำมันดังกล่าว และป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น 

ผลการคาดการณ์ดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้กรณีมีการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม ความเร็วลม และกระแสน้ำ โดย คพ.จะประสานรับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับค่าในแบบจำลองให้ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงต่อไป

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเล ให้ความเห็น ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “กรณีของน้ำมันรั่วที่ระยอง 4 แสนลิตร ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจน ระบบนิเวศหลักๆ ที่ได้ผลกระทบคือหาดทราย พื้นที่เฝ้าระวังอย่างมากคือเมืองระยองถึงก้นอ่าว หญ้าทะเลอยู่ที่บ้านเพ/สวนสน อาจได้รีบผลบ้างแต่คงน้อย เพราะช่วงนี้น้ำไม่ลงต่ำจนแห้ง คราบน้ำมันไม่น่าลงไปบนหญ้าโดยตรง ทิศทางลมไม่ได้ไปทางเกาะเสม็ด แนวปะการังอาจได้รับผลไม่มาก แต่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่เดิม เช่น อ่าวพร้าวสรุปแล้วให้เน้นหาดทรายกับพื้นท้องทะเลเป็นหลัก”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส