วันที่ 24 ม.ค. 65 หลังจากที่ พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ได้เปิดเผยถึงเกิดเหตุการณ์ เรือบรรทุกน้ำมันดีเซล ชื่อ ป. อันดามัน 2 อับปางลงพร้อมมีน้ำมันอยู่ประมาณ 5 แสนลิตร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมานั้น
ได้มีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า วันต่อมา คือในวันที่ 23 มกราคม 2565 ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือได้ประชุมร่วมกับกรมเจ้าท่า ทัพเรือภาคที่ 1 กรมอุทกศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ และเจ้าของบริษัทเรือ โดยได้มีข้อสรุปจากการประชุมดังนี้
– จากการประเมินคราบน้ำมันที่รั่วไหล จากการตรวจสอบพบว่ามีความรุนแรงระดับ 1 น้ำมันรั่วไหลมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 20 ตัน กรมเจ้าท่าจะเป็นหน่วยควบคุมและกำกับการปฏิบัติในภาพรวม
– กรมเจ้าท่าจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.เดินเรือ มาตรา 121 ออกประกาศ โดยสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดชุมพร แจ้งให้เรือต่าง ๆ ระมัดระวังในการเดินเรือในบริเวณที่มีเรืออับปาง รวมทั้งแจ้งให้บริษัทไทยแหลมทองค้าน้ำมันประมงจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ ป.อันดามัน 2 ห้ามใช้เรือและดำเนินการกู้เรืออับปางโดยเร็วโดยจะทำการเก็บกู้น้ำมัน (ดีเซล) เป็นลำดับแรก ภายใน 7 วัน หลังจากนั้นจะให้กู้เรือภายในเวลา 15 วัน รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมัน ประกอบด้วย ทุ่นกักเก็บน้ำมัน (Boom) ความยาว 800 เมตร และสาร Dispersant จำนวน 700 ลิตร
– หากกรณีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มมากขึ้น เป็นขนาดกลาง ตั้งแต่ 20-1,000 ตัน ซึ่งเข้าสู่ความรุนแรงระดับ 2 (Tier II) ศูนย์ประสานงานฯ (กรมเจ้าท่า) จะเสนอคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ขออนุมัติให้กองทัพเรือจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติในการขจัดมลพิษทางน้ำอันเนื่องมาจากน้ำมัน รับผิดชอบกำหนดแผนและยุทธวิธีในการขจัดคราบน้ำมัน
– กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง ได้มีการเตรียมแผนเผชิญเหตุและเตรียมการรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีคราบน้ำมันรั่วไหลเข้าชายฝั่ง
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกองทัพเรือได้สั่งการให้ทัพเรือภาคที่ 1 จัด เรือหลวงสงขลา เรือหลวงมันนอก และเรือหลวงแสมสาร เตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการขจัดคราบน้ำมัน ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือจะสั่งการ พร้อมทั้งจัดเตรียมตู้คอนเทนเนอร์บรรจุอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมัน จำนวน 2 ตู้
กับให้หมู่เรือสำรวจของกองเรือทุนระเบิด กองเรือยุทธการ โดยใช้เรือหลวงบางระจันซึ่งมี ยาน seafox-i ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด(mine disposal vehicle:MDV) มีขีดความสามารถในการค้นหา พิสูจน์ทราบและทำลายทุ่นระเบิด สามารถปรับมาใช้ในภารกิจนี้ได้
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้แสดงความเป็นห่วงพร้อมทั้งสั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและรายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยืนยันว่า กองทัพเรือ มีความพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์และกำลังพล ในการขจัดคราบน้ำมันในทะเล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการฝึกซ้อมกันเป็นประจำทุกปี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญของกองทัพเรือ เพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องทะเล ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของชาติที่สำคัญของประเทศให้คงไว้อย่างยั่งยืน โดยความคืบหน้าในส่วนของการจัดการขจัดคราบน้ำมันทางกองทัพเรือจะรายงานให้ทราบเป็นระยะต่อไป