ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 มีมติเห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญคือขยายวันลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) โดยได้รับค่าจ้าง จากเดิมไม่เกิน 90 วัน เป็น 98 วัน (เพิ่มขึ้น 8 วัน) และเมื่อครบ 98 วันแล้ว ยังสามารถลาต่อเนื่องได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนในอัตรา 50% รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน
นอกจากนี้ ร่างมาตรการดังกล่าวยังได้ส่งเสริมการลาของสามี (ข้าราชการชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกัน จนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ)
ยังให้มีการจัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้รับอายุ 0 – 3 ปี และขยายเวลาเปิด – ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงานตามบริบทของพื้นที่
สำหรับร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นไปเพื่อคุ้มครอง สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็กเพื่อลดภาระให้กับผู้หญิงที่ทำงาน สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี