408 views

แนะระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ช่วงเปิดเทอมนี้


นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะมีการเปิดภาคเรียน ซึ่งสถานศึกษาอาจมีกิจกรรมรวมกันเป็นกลุ่มที่มีโอกาสใกล้ชิดกันมาก ประกอบกับในช่วงนี้เป็นฤดูฝน สภาพอากาศที่เย็นและชื้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย โดยสิ่งที่ผู้ปกครองและครูควรระมัดระวังไม่ให้เด็กป่วย นอกจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) แล้ว ยังมีโรคมือ เท้า ปาก ที่ผู้ปกครองและครูควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุด นั้น

กรมควบคุมโรค จึงขอให้ผู้ปกครองและครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19 ด้วย

สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วย 6,202 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุเด็กแรกเกิด – 4 ปี

รองลงมาคืออายุ 5 ปี และอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ โดยโรคมือ เท้า ปากจะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ สามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน

หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ จึงขอเน้นย้ำผู้ปกครองและครู ช่วยกันดูแลและสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย และควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม และขอแนะนำวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19 ดังนี้

  1. ให้ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็ก ก่อนมาสถานศึกษา หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน
  2. ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้
  3. หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน ของใช้ ของเล่นเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
  4. หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น
  5. จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นกลุ่มย่อย แบบเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
  6. หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ควรให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส