นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ชุดตรวจ ATK ที่ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มี 2 แบบ คือ แบบตรวจจากโพรงจมูก และตรวจจากน้ำลาย โดยการตรวจจากน้ำลายจะมีรูปแบบการใช้งานตามคู่มือคำแนะนำของชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ เช่น บางยี่ห้อเก็บตัวอย่างน้ำลายโดยใช้ถ้วยเก็บ และใช้หลอดดูดน้ำลายไปหยดในช่องใส่ตัวอย่างบนแถบตรวจ หรือเก็บโดยใช้ไม้เก็บตัวอย่างจากการป้ายน้ำลายในช่องปาก และนำไปจุ่มในหลอดน้ำยา จากนั้นใช้หลอดดูดน้ำยาที่ผสมกับน้ำลายแล้ว ไปหยดลงในช่องใส่ตัวอย่างบนแถบตรวจ
ทั้งนี้ปัจจุบัน อย. ยังไม่มี การขึ้นทะเบียนชุดตรวจ ATK ที่เก็บตัวอย่างจากน้ำลายโดยใช้การอมปลายแถบตรวจโดยตรง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ เช่น การเกิดพิษเมื่อใช้ติดต่อกันหลายครั้ง หรือการยืนยันว่าจะไม่มีสารเคมีอันตรายที่อยู่บนแถบตรวจไหลกลับสู่ปากขณะอม หรือการรับรองการใช้ในเด็ก อายุต่ำกว่า 12 ปีหากกัดจนชุดตรวจเกิดความเสียหายจะไม่มีสารเคมีอันตรายรั่วซึมออกมา
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ประชาชนเลือกใช้ชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และปฏิบัติตามคู่มือคำแนะนำการใช้งานให้ถูกต้องตามชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการตรวจ โดยสามารถตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ทาง เว็บไซต์อย.
และก่อนซื้อขอให้ผู้บริโภคสังเกตฉลากภาษาไทย ซึ่งจะมีข้อความแสดง “บุคคล ทั่วไปสามารถใช้ได้” เพื่อให้ได้รับชุดตรวจที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งนี้ ชุดตรวจ ATK เป็นชุดตรวจคัดกรองเบื้องต้นเหมาะกับผู้ที่มีประวัติความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีเชื้อจำนวนไม่มากหรืออยู่ในช่วงการติดเชื้อระยะแรก ผลที่ได้อาจเป็นลบ ดังนั้น กรณีได้ผลลบแต่มีประวัติความเสี่ยงสูงหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อขอให้มีการเฝ้าระวังตนเองและดำเนินการตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน