วันที่ 18 พ.ย. 64 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณี สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด เดินทางมายังกระทรวงแรงงาน จำนวนประมาณ 30 คน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 น. เพื่อติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในการช่วยเหลือลูกจ้าง บจก.บริลเลียนท์ฯ กรณีขอให้แก้ไขระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้ขยายอัตราการจ่ายเงินกองทุน เพื่อช่วยเหลืออดีตลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
ซึ่งเรื่องดังกล่าวตัวแทนลูกจ้างได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีการถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับความเป็นธรรมในสิทธิประโยชน์ที่พึงได้
ย้ำให้กระทรวงแรงงานดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้พิจารณาปรับปรุงระเบียบเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและตามความเหมาะสม
ในวันนี้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งตนเองเป็นประธาน ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 15/2564 คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
เพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นจากเดิมสูงสุดเป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งกรณีค่าชดเชยและกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย ซึ่งตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ต่างแสดงความยินดี และขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้ใส่ใจและห่วงใยดำเนินการตามข้อเรียกร้องอีกทั้งข้อเสนอของลูกจ้างกลุ่มนี้ส่งผลให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบลักษณะเดียวกันได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นด้วย
นายบุญชอบ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นจากเดิมสูงสุดเป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้ง 2 กรณี ดังนี้
- กรณีค่าชดเชยจาก 30 เท่า เป็น 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี
- จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และ
- จาก 70 เท่า เป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป
สำหรับกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย เดิม 60 เท่า เป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าต้องจ่ายเงิน 59 ล้านบาท สงเคราะห์ให้กับลูกจ้างจำนวน 5,270 คน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเสนอร่างระเบียบดังกล่าวต่อประธานกรรมการและเสนอต่อสำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ก่อนปีใหม่