วันที่ 17 พ.ย. 64 พลอากาศตรี ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจงโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบา รุ่น AT-6 ของกองทัพอากาศ จำนวน 8 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อทดแทนเครื่องบินแบบ L-39 ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี และได้ปลดประจำการแล้ว
สำหรับรองรับภารกิจการโจมตีทางอากาศ การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติกับหน่วยงานอื่น วงเงินงบประมาณ 4,500 ล้านบาท (143,396,000 USD) ซึ่งเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 5 ปี ระหว่างปี 64 – 68
โดยการพิจารณาเลือกเครื่องบินโจมตีแบบเบา AT-6 ของบริษัท Textron Aviation Defense LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อพิจารณาจาก ความประหยัด ในการส่งกำลังและซ่อมบำรุงจากการใช้อะไหล่ร่วมกันได้กับอากาศยานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ระยะเวลาในการฝึกที่ลดลงเนื่องจากเป็นอากาศยานในตระกูลเดียวกับที่ใช้ฝึก แต่เพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น และมีความเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจบริเวณแนวชายแดนในการลาดตระเวนติดอาวุธ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศ เพราะมีชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ และจ้างประกอบภายในประเทศ ได้รับกรรมสิทธิ์ Software เพื่อพัฒนาต่อยอดได้เอง และลดผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง
นอกจากนี้โครงการนี้กองทัพอากาศได้รับการคัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างในการเข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างกองทัพอากาศ หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ, ผู้ประกอบการ (บริษัท Textron Aviation Defense LLC สหรัฐอเมริกา) และคณะผู้สังเกตการณ์ จำนวน 3 ท่านประกอบด้วย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร และ อาจารย์วิชา เมฆตระการ
โดยมีการรายงานผลอย่างต่อเนื่อง พบว่า กองทัพอากาศดำเนินการได้อย่างถูกต้องและโปร่งใส
ล่าสุดความก้าวหน้าของโครงการในปัจจุบันได้ดำเนินการในกระบวนการขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อยแล้ว กองทัพอากาศได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อแล้ว เมื่อ 24 ส.ค.64
ทั้งนี้ โฆษกกองทัพอากาศ ยืนยันว่าการดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบา (AT-6) ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อดำรงขีดความสามารถของกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติตามที่กฎหมายกำหนด การจัดหาทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ