ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวประเด็นเรื่อง น้ำจะท่วมเหมือน ปี 54 พายุเข้าตั้งแต่ 1 ทุ่มคืนนี้ ยาวไป 5 วัน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีการโพสต์ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า พายุเข้าตั้งแต่ 1 ทุ่มคืนนี้ ยาวไป 5 วัน โปรดเตรียมตัวรับมือเรื่องน้ำท่วมนั้น
กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่า ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเก่าไม่ได้อัปเดต เป็นข้อมูลผลการพยากรณ์ความน่าจะเป็นของโอกาสการก่อตัวเป็นพายุจากศูนย์พยากรณ์อากาศยุโรประยะปานกลาง ค่าสีแสดงถึงโอกาสการก่อตัวของพายุ ตั้งแต่ระดับหย่อมความกดอากาศต่ำ (cyclonic) เชดสีเป็นโอกาสที่จะเกิด คิดในรอบ 48 ชม. สีเขียวประมาณ 50 % เท่านี้ สีน้ำเงินมีโอกาสสูงที่จะเป็นพายุ โดยข้อมูลจะมีการอัปเดต วันละ 2 เวลา คือ 07.00 น. และ 19.00 น. หากวิเคราะห์ตามเชดสี ช่วง 8-11 ต.ค.64 จะเป็นร่องมรสุมพาดผ่านทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน (ไม่ใช่เส้นทางพายุ)
ส่วนปริมาณฝนปีนี้ (64) หากเทียบกับปี 54 ยังต่ำกว่าเกือบ 20% ฝนที่ตกขณะนี้เกิดจากร่องมรสุมที่พาดผ่านและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมมีกำลังค่อนแรง ฝนส่วนใหญ่จึงตกบริเวณภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคอีสานตอนล่างและภาคใต้ แต่หลังกลางเดือน ต.ค. ฝนทางตอนบนจะเริ่มน้อยลง ฝนจะเพิ่มขึ้นทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากจะเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว
(7 ต.ค. 2564) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564 ซึ่งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ และขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย จึงขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยพายุอย่างใกล้ชิดต่อไป
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าวเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.tmd.go.th, Facebook: กรมอุตุนิยมวิทยา, Application: Thai weather หรือติดต่อสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุป : ปริมาณฝนปี 64 หากเทียบกับปี 54 ยังต่ำกว่าเกือบ 20% และข้อมูลที่นำมาแชร์เป็นข้อมูลเก่าที่ยังไม่ได้อัปเดต ปัจจุบันฝนที่ตกขณะนี้เกิดจากร่องมรสุมที่พาดผ่านและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมมีกำลังแรง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากพายุดีเปรสชั่น ที่คาดว่าจะเข้าประเทศเวียดนามในวันที่ 10-11 ต.ค.
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม