395 views

บิดเบือน ! รักษาผู้ป่วยโควิด นำผิวมะกรูดหมักน้ำส้มสายชู 1 ชม. แล้วนำมาพ่นพร้อมสูดดม


ตามที่ได้มีข้อมูลในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เรื่อง รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยการนำผิวมะกรูดหมักน้ำส้มสายชู 1 ชั่วโมง แล้วนำมาพ่นพร้อมสูดดม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากที่มีการแนะนำวิธีรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยการนำผิวมะกรูดหมักในน้ำส้มสายชู 1 ชั่วโมง จากนั้นนำมาพ่นพร้อมสูดดม นั้น

ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า มะกรูด (Kaffir lime) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus hystrix DC. จัดอยู่ในวงศ์ Rutaceae ตำรายาไทยใช้ส่วนใบและผิวของลูกซึ่งมีน้ำมันระเหยง่าย มีการใช้ตามภูมิปัญญาว่าช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกทำให้ทางเดินหายใจโล่ง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ แต่วิธีการที่ระบุในข้อมูลที่กล่าวอ้างยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถยืนยันได้ว่าช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ลดโอกาสการฟักตัว ซึ่งยังไม่มีข้อมูลวิจัยที่มากกว่าข้อมูลทาง computer docking ดังนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

โดยผลไม้ตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า) มีการศึกษาโดยใช้เทคนิค molecular docking[1,26] พบว่าสาร hesperidin และ rutin ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่พบมากในผิวและเยื่อหุ้มด้านในเปลือกผล ของพืชตระกูลส้ม มีศักยภาพสูงในการลดโอกาสการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดที่ประเทศจีนมีรายงานว่ามีการใช้ชาเปลือกส้มช่วยรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นด้วย นอกจากนี้ส้มเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง จึงเหมาะสำหรับการบริโภคเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันโรคระบาดจากเชื้อไวรัสได้

ดังนั้นข้อมูลและภาพที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน จึงขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007

บทสรุป : มะกรูดช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกทำให้ทางเดินหายใจโล่ง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถยืนยันได้ว่าช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส หรือลดโอกาสการฟักตัวได้

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข


แทก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส