กรณีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวตลาดนัดจตุจักร อาจเป็นต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่น โดยสำนักข่าว โพลิทิเคน ของเดนมาร์ก ระบุว่าตลาดค้าสัตว์ในสวนจตุจักร กรุงเทพฯ อาจเป็นสถานที่ต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่นของจีน และทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยอ้างข้อมูลจากเธีย เคิลเซน ฟีสเชอร์ แพทย์ชาวเดนมาร์ก ซึ่งทำงานกับองค์การอนามัยโลก และยังมีรายงานการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในค้างคาวบางสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ขณะที่สำนักข่าวสปุตนิก (Sputnik) ของรัสเซีย เคยอ้างผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ถูกพบในเลือดของค้างคาวเกือกม้า 5 ตัว ที่อาศัยอยู่ในถ้ำจำลองของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่ง ทางตะวันออกของไทย ซึ่งคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเลือดของค้างคาวฝูงนี้ มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงถึงร้อยละ 91.5
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการควบคุม ป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง รวมถึงหารือแผนปฏิบัติการป้องกันกำจัดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า และกำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่าและตลาดค้าสัตว์เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมาผลการตรวจหาเชื้อไวรัส พบเชื้อไวรัสโคโรนาในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว แต่เชื้อไวรัสโคโรนาดังกล่าวเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด 19
นอกจากนี้ กรณีนักวิจัยเก็บตัวอย่างตรวจสอบค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว) ในประเทศไทย เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยประเทศไทยได้ศึกษาวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาวที่เมืองไทยมานานเกือบ 20 ปี เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในเบื้องต้น ผลการวิจัยที่ได้พบว่าค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวมงกุฎ มีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด 19 เพียงร้อยละ 91 แต่เชื้อไวรัสที่พบนี้ไม่มีข้อมูลการติดต่อระหว่างค้างคาวมาสู่คน แต่การไม่กิน ไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาว เป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่ากรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน ขอให้มั่นใจในมาตรการในการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรค ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง และขอให้ประชาชนทุกคนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสกับสัตว์ พร้อมทั้งสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ขณะที่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงในประเด็นเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการสำรวจสัตว์ที่มีการค้าในตลาดนัดจตุจักร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม เช่น สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดนัดจตุจักร
ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) นั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ สัตว์ที่มีการค้าในตลาดนัดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย โดยมีชุดปฏิบัติการ 1362 ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่อ้างว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของประเทศไทยนั้น ขอชี้แจงว่าในเดือนมิถุนายน 2563 คณะนักวิจัยของไทย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้า) ในหลายพื้นที่ รวมทั้งถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ และดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อตรวจหาไวรัสโคโรนา 2019 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรนา 2019 เพียงร้อยละ 91 ซึ่งไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้
นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังได้ดำเนินการเชิงรุก โดยสำรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในค้างคาวและลิ่นในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่ หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่าสัตว์ ค้าสัตว์ และบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน
ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศจะมีหนังสือถึงสำนักข่าวต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อย้ำข้อมูลและคำชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติฯ รวมทั้งจะส่งข้อมูลแนวทางชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกทำความเข้าใจกับต่างชาติตามความเหมาะสมต่อไป
ล่าสุด ! ศ.ดร.ธีอา ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ที่เดินทางไปตรวจสอบต้นตอของไวรัสโควิด-19 ที่อู่ฮั่น ระบุว่า จากกรณีข่าวที่ออกมานั้น พาดหัวและเนื้อหาข่าวบางส่วนของสื่อเดนมาร์ก ชวนให้เข้าใจผิด และบิดเบือนข้อความของเธอ ซึ่งเธอระบุว่า เธอเพียงแค่อธิบายว่า ตลาดค้าสัตว์แปลก สามารถเป็นต้นตอของการระบาดของเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ง่าย เพราะความแออัด และในกรณีที่พูดถึงประเทศไทยนั้นเธอเพียงยกตัวอย่างว่า ต้นตอของโควิด-19 อาจจะมาจากค้างคาวมงกุฎ ซึ่งค้างคาวชนิดนี้อาศัยอยู่ในหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย ซึ่งเป็นพาหะของไวรัสโคโรนาที่มีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับของสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโควิด-19