Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

498 views

รัฐยืนยันไทย-จีนหารือต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาแม่น้ำโขงร่วมกัน


สทนช.และกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันไทย-จีนหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขง พร้อมเร่งปรับปรุงระบบการได้ข้อมูลให้เร็วขึ้นป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ระบุว่าการบริหารจัดการประเด็นแม่น้ำโขงของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นทางของแม่น้ำโขง โดยพบว่าเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 64 ระดับน้ำโขงที่เชียงแสน ลดลง 1 เมตร เมื่อเทียบกับวันที่ 2 ม.ค. 64 เนื่องจากประเทศจีนได้กั้นน้ำไว้ที่เขื่อนจิ่งหง เพื่อทดสอบระบบผลิตไฟฟ้าของเขื่อน แต่ทางการจีนแจ้งให้หน่วยงานด้านน้ำของไทยทราบในวันที่ 5 ม.ค. 64 ภายหลังจากดำเนินการไปแล้ว และจะทดสอบระบบฯ ถึงวันที่ 24 ม.ค.64 ซึ่งระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่เชียงแสน รวมทั้งยังส่งผลถึงระดับน้ำกก ใน อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย และ อ.เชียงแสน

เรื่องนี้ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ชี้แจงว่า สทนช.ได้รับข้อมูลอุทกวิทยาจากสถานียุนจิ่นหง พบว่ามีระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 จึงได้เร่งติดต่อประสานงานผ่านผู้ประสานงานของรัฐบาลจีนและเขื่อนจิ่นหง ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยเป็นช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี ทำให้เกิดช่องว่างในการแจ้งยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ม.ค. 2564 โดยวันที่ 2 – 5 มกราคม 2564 ระดับน้ำที่เชียงแสนลดลง ประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้การแจ้งเตือนหน่วยงานระดับพื้นที่เกิดความล่าช้า ซึ่ง สทนช.จะเร่งปรับปรุงระบบการได้ข้อมูลยืนยันที่เป็นทางการให้รวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรน้ำของสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ (JWG) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง สาขาทรัพยากรน้ำ ได้มีการลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดทั้งปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา จากเดิมเริ่มต้นเพียงช่วงฤดูฝนเท่านั้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ผลักดันให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสนับสนุนข้อมูลด้านอุทกวิทยาน้ำโขงกับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2562 สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลระดับน้ำและปริมาณน้ำจากสถานีวัดน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ สถานีจิ่งหง และสถานีหม่านอัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน -31 ตุลาคมของทุกปี

ความร่วมมือล่าสุด คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับน้ำในฤดูฝนตลอดทั้งปีของสถานียุนจิ่นหง และสถานีหมานอัน ที่ตั้งอยู่ท้ายน้ำของแม่น้ำล้านช้างในจีน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่างให้คณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำของประเทศสมาชิกอีก 5 ประเทศ ได้รับทราบ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง – ล้านช้าง รวมถึงการป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและระดับน้ำอย่างฉับพลัน

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ระดับน้ำโขงในระยะนี้ คาดว่าระดับน้ำจะมีค่าคงที่ไม่ต่ำกว่าในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับตลิ่งประมาณ 10.61 เมตร

เลขาธิการ สทนช.ยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเน้นย้ำถึงการปกป้องผลกระทบกับประชาชนริมน้ำโขง และมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเจรจาในทุกกรอบเวทีการเจรจา โดยสทนช. มีแผนการดำเนินการสร้างเวที สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารแม่น้ำโขงในประเทศเพิ่มเติม เพื่อให้การจัดการน้ำโขงเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

ด้าน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงในประเด็นเดียวกันว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับ สทนช. ได้รับทราบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง เขตพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว คือระดับ ๒ เมตร แต่การซ่อมเขื่อนในประเทศจีนย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศท้ายน้ำ สทนช.จึงได้แจ้งความกังวลของไทยและขอให้ฝ่ายจีนแจ้งข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการที่จะสร้างผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานให้ประเทศท้ายน้ำทราบด้วย

กระทรวงการต่างประเทศใช้กรอบความร่วมมือ Mekong – Lancang Cooperation (MLC) และองค์กรความร่วมมือ Mekong River Commission (MRC) เป็นกลไกพหุภาคีในระดับอนุภูมิภาคที่จะหารือฉุกเฉิน ในกรณีที่เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนจากการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนั้น ยังได้ใช้ กรอบความร่วมมือ Mekong – Lancang Cooperation (MLC) เป็นเวทีในการผลักดัน และขอความร่วมมือจากจีนให้แจ้งข้อมูลเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขงให้ประเทศสมาชิกทราบตลอดทั้งปี จากเดิมที่แจ้งเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว และจีนได้แบ่งปันข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา

กระทรวงการต่างประเทศ ยังใช้เวทีขององค์กรความร่วมมือ Mekong River Commission (MRC) เพื่อหารือกับประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม และประเทศ dialogue partners อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐฯ รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และเมียนมาเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดน อันเกิดจากการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งขอให้ประเทศเหล่านี้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสำนักเลขาธิการ Mekong River Commission (MRC) เพื่อให้องค์กรความร่วมมือ Mekong River Commission สามารถทำหน้าที่แจ้งเตือน ประเมินข้อมูล และประสานงานการบริหารจัดการระหว่างประเทศสมาชิกได้ ซึ่งองค์กรความร่วมมือ Mekong River Commission จะสามารถมีบทบาทตรวจสอบและรักษาสมดุลในเรื่องข้อมูลน้ำได้ด้วย

ในส่วนของภาคประชาสังคม กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะเพื่อการจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม 2563 เพื่อนำข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ไปผลักดันในเวทีระหว่างประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส