นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกรณีที่มีสื่อรายงานปัญหาการควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่พบปัญหาด้านสถานที่กักตัว การประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ และงบประมาณในการดูแลเรื่องดังกล่าว
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า จากการสอบถามข้อเท็จจริงกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ยืนยันว่า ไม่ได้ให้ข้อมูลตามที่สื่อลงแต่อย่างใด โดยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ แรงงานที่ควบคุมตัวได้ทั้งหมด เป็นแรงงานต่างด้าวถูกต้องตามกฎหมายมีเอกสารเดินทาง (Passport และ Visa) ซึ่งทำงานในพื้นที่ จ.ชุมพร แต่ในวันเกิดเหตุ ต้องการเดินทางกลับประเทศเมียนมาในช่วงปีใหม่ผ่านช่องทางธรรมชาติ จึงได้ว่าจ้างให้คนมาส่งเพื่อจะเดินทางเข้าไปฝั่งเมียนมาในวันรุ่งขึ้นแต่ถูกควบคุมตัวเสียก่อน ชุดเจ้าหน้าที่จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อตรวจหาเชื้อ โควิด – 19 แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลากลางคืนจึงรอเช้าวันรุ่งขึ้น ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทราบผลตรวจ “ไม่พบเชื้อ” จึงได้ประสานนายจ้างที่จังหวัดชุมพรให้มารับตัวกลับไปพร้อมลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
ส่วนที่มีการอ้างว่าเมื่อจับบุคคลต่างด้าวได้แล้ว กลับไม่มีสถานที่กักกันตัวเพื่อดูอาการนั้น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขอชี้แจงว่า ได้มีการเตรียมจัดหาสถานที่สำรองเพื่อเป็นสถานกักกันตัวสำหรับบุคคลที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองใน 8 อำเภอ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองลดลง จึงให้หน่วยงานที่จับกุม ควบคุมไว้เพื่อรอผลตรวจ หากผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) ก็จะส่งพนักงานสอบสวนในพื้นที่เพื่อดำเนินคดีต่อไป ประกอบกับสถานีตำรวจในพื้นที่มีสถานที่เพื่อกักกันตัวเพียงพอซึ่งไม่ขัดข้องที่จะควบคุมตัวไว้ก่อนส่งดำเนินคดี
กรณีที่อ้างว่ากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาถึงในพื้นที่ ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง ทำให้เจ้าหน้าที่หน้างานต้องอดหลับอดนอน ยืนยันว่าในกรณีที่ได้รับแจ้งว่ามีการควบคุมตัวบุคคลต่างด้าว เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ฝ่ายปกครองอำเภอ ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต. จะเข้าไปตรวจสอบและควบคุมและคัดกรองเบื้องต้นโดยทันที แต่หากได้รับแจ้งหลัง 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงกลางคืนการเข้าพื้นที่ไปตรวจหาเชื้อแนวชายแดนทำได้ยาก จะเข้าตรวจหาเชื้อในวันรุ่งขึ้น ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จะคุมตัวไว้ ณ จุดเกิดเหตุเพื่อป้องกันเชื้อ จนกว่าจะทราบผลตรวจ ซึ่งสถานีตำรวจในพื้นที่ และค่าย ตชด. ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการรับมากักกันตัวในระหว่างที่รอผลตรวจหรือรอส่งดำเนินคดีแต่อย่างใด
ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด และปฏิบัติงาน ทางจังหวัดได้จัดสรรค่าอาหาร 3 มื้อ มื้อละ 50 บาท จำนวน 10 คน/จุด/วัน สำหรับกรณีจับกุมแรงงานต่างด้าวแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้จัดหาอาหารและน้ำดื่มไว้ให้ เพื่อเป็นไปตามหลักมนุษย์ธรรมที่ดีพร้อมทั้งดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งโดยปกติไม่ได้มีผู้หลบหนีจำนวนมากประกอบกับ ณ จุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ได้มีการจัดประกอบเลี้ยงชุดจุดตรวจ/จุดสกัดอยู่แล้ว ซึ่งสามารถที่จะแบ่งปันให้กับแรงงานต่างด้าวที่ควบคุมตัวไว้ได้ เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจไม่จำเป็นต้องใช้เงินส่วนตัวดูแลแรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมตัว
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นั้น ตามช่องทางธรรมชาติจะมีความลำบากในการเดินทางข้ามผ่านแดน ยกเว้นในพื้นที่อำเภอเมืองฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้มงวดตลอดพื้นที่แนวชายแดน หมู่บ้านตำบลชายแดน และพื้นที่ตอนใน จึงทำให้มีผู้หลบหนีเข้าเมืองเฉลี่ยเดือนละประมาณไม่เกิน 15 รายเท่านั้น ยืนยันมีความพร้อมในการจัดการเรื่องแรงงานต่างด้าว และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่