กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการคนละครึ่งเป็นนโยบายที่ไม่มีความยุติธรรม ในเมื่อประชาชนทุกคนต้องมาใช้หนี้ร่วมกัน แต่กลับไม่ได้รับสิทธิครบทุกคน หากไม่มีโครงการนี้ สามารถนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นได้หรือไม่ รวมถึงกรณีที่มีประชาชนไม่ได้รับรหัส OTP ในการลงทะเบียนรับสิทธิโครงการการคนละครึ่ง เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในการเปิดให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 จึงตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินการ ทั้งในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างระบบที่ไม่มีมาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถรองรับประชาชนได้อย่างเพียงพอ และเหตุใดไม่ให้มีการรับรหัส OTP เพิ่มเติม ผ่านช่องทางระบบ E-mail หรือช่องทางอื่น ๆ ที่เป็นนิยมและได้มาตรฐานระดับสากล อีกทั้งยังเป็นระบบปิด ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจสอบผู้ลงทะเบียนได้ เปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย นั้น
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวชี้แจงว่า จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นและรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2564
จากสถานการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การดำเนินโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน เพื่อช่วยเหลือเยียวยา เพิ่มกำลังซื้อ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มดังกล่าว เพิ่มเติมเดือนละ 500 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน จากเดิมที่ภาครัฐได้ช่วยเหลืออยู่แล้วประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น วงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า 200/300 บาท/คน/เดือน วงเงินค่ารถ บขส. 500 บาท/คน/เดือน วงเงินค่ารถไฟ 500 บาท/คน/เดือน เป็นต้น
สำหรับโครงการคนละครึ่ง เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 15 ล้านคน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะหาบเร่ แผงลอย มีรายได้จากการขายสินค้า ขณะนี้ มีผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการประมาณ 1 ล้านร้านค้า โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 โดยโครงการคนละครึ่ง เป็นการร่วมจ่าย กลุ่มเป้าหมายจึงเป็นผู้ที่พอจะมีรายได้เพื่อมาร่วมจ่ายกับรัฐ ซึ่งเป็นการสร้างความต้องการซื้อที่แท้จริง ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะหาบเร่ แผงลอย รวมไปถึงผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยรักษารักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ คือ ระบบการใช้จ่ายด้วยแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ที่ต้องมีการลงทะเบียนและใช้ OTP รวมทั้งยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์จริง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ให้มั่นใจว่าเป็นผู้ได้รับสิทธิจริง ไม่มีผู้อื่นมาใช้สิทธิแทน และมีการใช้จ่ายจริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนจนถึงระดับฐานราก ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาให้สังคมไทยเดินหน้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital Society) ไปพร้อม ๆ กัน
ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการใช้เงินสด ทำให้การดำเนินโครงการโปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขอยืนยันว่าระบบการลงทะเบียนและการยืนยันตัวตนของโครงการคนละครึ่ง ซึ่งรวมถึงระบบการส่ง OTP เป็นระบบที่เป็นมาตรฐานสากล โปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการช้อปดีมีคืน เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี โดยผู้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มีประมาณ 3.7 ล้านคน รวมทั้งการดูแลประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ผ่านมาตรการและสวัสดิการอื่น ๆ ของรัฐ ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินมาตรการหรือโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล มาจากแหล่งรายได้ของรัฐ รวมทั้งเงินกู้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ