จากที่มีการแชร์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เรื่องโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นั้น
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แจ้งว่า ข้อความที่แชร์ต่อๆ กันทางเฟซบุ๊กเป็นข่าวปลอม ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ พร้อมยืนยันว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนนี้ พบโรคไข้เลือดออกได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก
ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่ว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้
โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ อาการที่พบส่วนใหญ่มีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน ไม่หายหรือ ไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง หากแพทย์ให้กลับมารักษาตัวที่บ้านก็ไม่ต้องกังวล เพราะส่วนใหญ่โรคไข้เลือดออก หายได้เอง หากไม่เข้าสู่ภาวะช็อก มีเพียงบางรายเท่านั้น ซึ่งจะมีอาการในช่วงไข้ลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว มือเท้าเย็น บ่นปวดท้อง อาจมีเลือดกำเดา อาเจียนปนเลือด หรือถ่ายปนเลือด หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องรีบกลับไปพบแพทย์ที่เดิมให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น
การป้องกันโรคไข้เลือดออก ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้
1️ เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2️ เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3️ เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
นอกจากนี้ การฉีดพ่นสารเคมียังมีประสิทธิภาพในการกำจัดยุงลายได้ดี ซึ่งกรมควบคุมโรคมีระบบเฝ้าระวังโรค ตลอดจนเฝ้าระวังยุงดื้อต่อสารเคมีอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนมีอาการคล้ายไข้หวัด และมีอาการไข้สูงเฉียบพลันในตอนแรก อย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาภายหลังและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะยาบางชนิด เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น การรักษาในระยะต้นที่มีไข้สูงใน 1-2 วันแรกไม่เป็นอันตรายใดๆ เว้นแต่ในรายที่ไม่ยอมหายหลังจากไข้ลด โดยช่วงไข้ลดมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดไหล ที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน ประชาชน
หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์