ความจริงคือ เป็นงบที่ใช้ทำโครงการถึง 2,041 โครงการของ 6 หน่วยงาน
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ กรณีการอนุมัติงบกลาง 3,079,472,482 ล้านบาท โครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่านำไปขุดบ่อบาดาล 500 บ่อ ว่า เป็นข่าวปลอม เพราะเงินจำนวนดังกล่าวใช้เพื่อการเจาะบ่อบาดาล ทั้งหมด 1,103 บ่อ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานราคากลาง และยังเป็นงบประมาณที่ครอบคลุมโครงการอื่น ๆ ทั้งหมด 2,041 โครงการ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า
การอนุมัติงบประมาณจำนวน 3,079 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านน้ำอุปโภคบริโภค เป็นการจัดสรรให้กับหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 6 หน่วยงาน รวม 2,041 โครงการ ได้แก่
- การประปานครหลวง
- การประปาส่วนภูมิภาค
- หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- กองทัพบก
- กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
สำหรับหน่วยรับผิดชอบการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ
- หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
- กองทัพบก
- กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ซึ่งมีจำนวนบ่อรวมกันทั้งสิ้น 1,103 บ่อ งบประมาณที่ได้รับ 1,301 ล้านบาท เป็นการขุดบ่อบาดาลที่มีความลึกมากกว่า 100 เมตร และบางบ่อมีความลึกมากกว่า 350 เมตร แต่ละบ่อผลิตน้ำได้เดือนละ 53,760 ลูกบาศก์เมตร มีขนาดบ่อบาดาล ตั้งแต่ขนาด 6 นิ้ว 8 นิ้ว
- มี 3 บ่ออยู่ในสถานพยาบาล
- และอีก 1,100 บ่อ อยู่นอกพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค
แยกเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูงใน 1,270 หมู่บ้าน จะมีการขุดเจาะ 577 บ่อ
พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 526 บ่อ
ทั้งนี้ยังมีการหาแหล่งน้ำผิวดินอีก 230 โครงการ
โครงการซ่อมแซมประปา 650 กว่าโครงการ รวมเป็น 2,041 โครงการ
- ดังนั้นงบประมาณที่ใช้ขุดเจาะบ่อบาดาลจึงไม่ใช่ราคาบ่อละ 6 ล้านบาทตามที่มีข่าว
นายศักดิ์ดา แจงต่อด้วยว่า การเจาะบ่อบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีขั้นตอน ดำเนินงาน ดังนี้
- สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพและคุณภาพที่เหมาะสำหรับการอุปโภคบริโภคแก่พี่น้องประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็น
- สำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อกำหนดจุดเจาะบ่อน้ำบาดาลแต่ละแห่งไม่น้อยกว่า10 จุด เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน
- เจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลด้วยท่อ ขนาด 6 นิ้ว และความลึกตามข้อมูลที่มีการสำรวจ (ความลึก 100 เมตรขึ้นไป)
- ติดตั้งท่อกรุ ท่อกรอง
- พัฒนาบ่อโดยใส่กรวดกรุ ผนึกผนังบ่อด้วยดินเหนียว ผนึกข้างบ่อด้วยซีเมนต์ พร้อมทั้งก่อสร้างฐานบ่อขนาด 2×2 เมตร
- งานหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ
- งานสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล
- ระบบสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมอุปกรณ์ ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำชนิดสองระบบ (AC/DC) ระบบโซล่าเซลล์ขนาดกำลังไม่น้อยกว่า 3,200 วัตต์ เครื่อง Generator ระบบกรองสนิมเหล็ก และจุดจ่ายน้ำถาวร
สำหรับ การเจาะบ่อบาดาลตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 หน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค หรือเพื่อเกษตรกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการเจาะน้ำบาดาลและการใช้น้ำบาดาล ได้รับการยกเว้นการขออนุญาตตามมาตรา 4
- สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตเจาะบ่อบาดาล ตามมาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการน้ำบาดาลในเขตน้ำบาดาลใดๆไม่ว่าจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองที่ดินในเขตน้ำบาดาลนั้นหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
ดังนั้น ในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องใช้ช่างเจาะที่มีหนังสือรับรองช่างเจาะ จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลการขอใบอนุญาต
- ส่วนกลาง สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 26/83 ซอยงามวงศ์วาน 54 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โทร 02-666-7000
- จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมาติดต่อ อบต. หรือ เทศบาลที่ต้องการขอเจาะขอใช้น้ำบาดาล
- พื้นที่อื่นๆ ติดต่อ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด