340 views

“คมนาคม” แจงมาตรการช่วยเหลือผู้โดยสาร กรณี “โควิด-19”


กระทรวงคมนาคม ออกประกาศชี้แจงกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เรียกร้องให้รัฐออกมาตรการจัดการปัญหาทัวร์และตั๋วเครื่องบินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยขอให้ออกข้อบังคับให้สายการบิน เอเจนซี่ และบริษัททัวร์ต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคสามารถเลื่อนวันเดินทางออกไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย หรือสามารถยกเลิกตั๋วโดยสารได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาและไม่เสียค่าธรรมเนียม นั้น 

นายพิศักดิ์  จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงและโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 5 ฉบับ เพื่อประกาศให้ทราบโดยทั่วกันถึงข้อมูลสำคัญและแนวทางปฏิบัติสำหรับการเฝ้าระวังป้องกันติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินของ WHO (Emergency Committee convened by the WHO Director – General under the International Health Regulations (IHR 2005)) มีมติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) โดยประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและควรงดเดินทางในช่วงนี้เด็ดขาด ประกอบด้วย 

  • จีน 
  • ฮ่องกง 
  • มาเก๊า 
  • ไต้หวัน 
  • สิงคโปร์ 
  • ญี่ปุ่น 
  • เกาหลีใต้ 
  • อิตาลี 
  • อิหร่าน 

 ซึ่งกลุ่มนี้เป็นประเทศที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศอย่างชัดเจน 

กรมท่าอากาศยาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรมการท่องเที่ยว เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการสายการบิน นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีมาตรการดำเนินการในระยะเร่งด่วน ดังนี้

  1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณามาตรการผ่อนผันกรณีมีการขอเลื่อนกำหนดการบิน สามารถเลื่อนไปได้ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหากนักท่องเที่ยวหรือบริษัททัวร์มีความจำเป็นต้องเลื่อนต่อไปอีกจะเลื่อนได้ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2563 และจะต้องพิจารณาว่าเป็นการเลื่อนในเส้นทางเดียวกันหรือไม่ หากเปลี่ยนเส้นทางอาจมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่ม
  2. บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) แบ่งกลุ่มบัตรโดยสารเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบัตรโดยสารแบบซีรีย์ ซึ่งบริษัททัวร์ได้วางมัดจำบัตรโดยสารเครื่องบินตลอดทั้งปี (แบบระยะยาว) ในเส้นทางญี่ปุ่น สายการบินฯ จะพิจารณามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียม แต่ยังคงเก็บค่าส่วนต่างที่เกิดขึ้น กลุ่มบัตรโดยสารแบบกลุ่ม สามารถนำไปใช้ในภายหลังได้ (ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) เพื่อให้บริษัททัวร์มีระยะเวลาและความคล่องตัวในการจัดการธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยวจะได้มีทางเลือกในการเดินทางและได้รับเงินคืนจากบริษัททัวร์มากที่สุด
  3. กรมท่าอากาศยาน พิจารณาเสนอมาตรการการปรับลดค่าบริการขึ้น – ลงของอากาศยานให้กับสายการบินในช่วงภาวะวิกฤต รวมทั้งจะเสนอให้ปรับลดค่าเช่าของผู้ประกอบการรถเช่าที่ใช้พื้นที่ของท่าอากาศยาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

มาตรการดูแลผู้โดยสาร 

  • กรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินทุกเส้นทางเอง ผู้โดยสารจะได้รับเงินค่าโดยสารคืนเต็มจำนวนที่จ่ายไปทุกประเภทบัตรโดยสาร 
  • กรณีผู้โดยสารประสงค์ขอยกเลิกการเดินทางด้วยตนเอง 

ปัจจุบันสายการบินของไทยอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถเลื่อนตั๋วเดินทางออกไปได้โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม หรือสามารถเก็บวงเงินตามเงินที่ชำระ แล้วนำมาใช้ในภายหลังก็ได้ เฉพาะเส้นทางที่สายการบินประกาศเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการขอคืนเงินขึ้นอยู่กับประเภทของบัตรโดยสารที่ซื้อ ในลักษณะเดียวกับกรณีตามปกติ ถ้าเป็นชนิดเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะได้คืนเฉพาะค่าบริการผู้โดยสารขาออกหรือภาษีสนามบิน ซึ่งการดูแลดังกล่าวเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องออกข้อบังคับใด ๆ เพิ่มเติม


แทก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส