โรค SK5 ในหมูระบาดในจีน ทำให้คนตาย 13 คน เป็นข่าวลือตั้งแต่ปี 59 ส่วนโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) เกิดขึ้นจริง แต่ติดต่อเฉพาะหมูไม่ติดต่อสู่คน แนะตรวจสอบหมูก่อนเข้าฟาร์มและปรุงอาหารหมูที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศา จากสื่อโซเชียลที่มีการแชร์ว่า “โรค SK5 ในหมู ระบาดในจีน ทำให้คนตาย 13 คน ทางการจีนทำลายหมูหลายแสนตัว” และ “โรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู ASF ระบาดทั่วประเทศจีน และอาจติดต่อสู่คน”
ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวลือที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2559 ต่อมาก็มีข่าวลือเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) ที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่โรคที่ติดต่อสู่คน ทางการจีน ออกมาแถลงยืนยันว่าไม่มีการติดเชื้อหรือมีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด โดยได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข่าวลือดังกล่าวแล้ว ซึ่งการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู ASF นั้นเกิดขึ้นจริง แต่โรคดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดโรคในคนและสัตว์อื่น และไม่ติดต่อสู่คน ส่วนวิดีโอที่แชร์กันนั้น ก็เป็นเหตุการณ์เดิมของการทำลายซากสุกรอันเนื่องจากการระบาดของโรค ASF นี้ เมื่อกลางปี 2561
ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า จำเป็นต้องทำลายหมูที่มีโรค เพราะทำให้หมูมีอัตราการเสียชีวิตสูง หากป่วยจะเป็นพาหะแพร่เชื้อไปตลอดชีวิต ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน และเชื้อมีความทนสูงในสภาวะแวดล้อม การทำลายหมูที่ติดเชื้อจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค เพราะโรคนี้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อวงการการเลี้ยงหมู
สำหรับมาตรการป้องกัน ASF ระบาดเข้าประเทศไทยนั้น กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ อย. กรมศุลกากร และสถาบันการศึกษา ออกมาตรการร่วมกันมาต่อเนื่อง เช่น การเข้มงวดตรวจสอบนำเข้าอาหารที่มีส่วนประกอบของสุกรจากพื้นที่ระบาด 15 ประเทศ ทั้งที่ด่าน สนามบิน และช่องผ่านแดน
ข้อแนะนำเกษตรกรป้องกันโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ติดเฉพาะในหมู ไม่เป็นโรคติดต่อในคนและสัตว์ชนิดอื่น และยังไม่มีการเกิดในไทย
ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรตรวจสอบแหล่งที่มาของหมูก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านปรุงสุก ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที มาเลี้ยงหมู
ที่มา : สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์