Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

427 views

กรมทรัพย์สินทางปัญญา แจงประเด็น ปัญหาต่างชาติยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรสารจากกัญชา


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีมีนักวิจัยกังวลต่อการเข้ามายื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทยว่า กรมฯ ยืนยันว่าสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าสารสกัดจากธรรมชาติไม่ได้รับการคุ้มครอง หมายความว่าจะไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิในสารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติตามกฎหมายสิทธิบัตร ทุกคนในไทยมีสิทธิที่จะวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ได้ ที่ข้อกังวลว่าการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้มีการวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ของไทยจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติแล้ว เป็นการเข้าใจผิด เพราะสารสกัดจากกัญชา ที่เอาไปต้ม เอาไปกลั่น จนได้สารออกมา กรมฯ ไม่รับจดอยู่แล้ว กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าจดไม่ได้ แต่ถ้าเอาสารสกัดที่ได้ ไปผสมกับอย่างอื่น จนเกิดเป็นยา สูตรยารักษาโรค หรือที่เรียกว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ คนไทย นักวิจัยคนไทย ที่คิดค้นสูตรที่แตกต่างจากคนอื่น ก็สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้เช่นเดียวกัน

กรณีที่มีบริษัทต่างชาติมายื่นจดสิทธิบัตร เป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์ดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยการยื่นจด เมื่อคำขอสิทธิบัตรมีเอกสารถูกต้องครบถ้วน และในช่วงที่ประกาศโฆษณา 90 วัน ไม่มีใครมายื่นคัดค้าน เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับคำขอเอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ยื่นได้รับการคุ้มครองแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนการรับจดสิทธิบัตรตามกฎหมาย ส่วนจะได้รับจดหรือไม่ได้ ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังจากนี้ ผู้ที่ยื่นจดจะต้องมายื่นเอกสารหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ภายใน 5 ปี ถ้าพิจารณาแล้วถูกต้องตามเงื่อนไข เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ก็ได้จดสิทธิบัตร แต่ถ้าไม่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ก็ไม่ได้รับจด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้ดำเนินการในลักษณะนี้อยู่แล้ว

 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพิจารณาคำขอเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติดังกล่าวด้วยความรอบคอบ รัดกุม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กรมฯ ยินดีเปิดรับข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการจากทุกภาคส่วน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา โดยใครมีเอกสารหลักฐานอะไร ก็ให้ยื่นเข้ามาได้

ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส